'เกรียงไกร' หวั่นเอกชนช็อก-ชะงักการลงทุน หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอน 'เศรษฐา'

‘เกรียงไกร’ หวั่นเอกชนช็อก – ชะงักการลงทุน หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอน ‘เศรษฐา’ ลั่นประเทศไทยต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพและต่อเนื่อง ไม่ห่วงนักลงทุนเอเชียหวังเข้าใจและชิน

14 ส.ค. 2567 – นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงประเด็นศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลา 15.00 น. วันที่ 14 ส.ค. 2567 ว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าก็จะได้ทราบผลว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งอย่างไร มีผลการตัดสินอย่างไร แต่ในมุมของภาคเอกชน ก็ได้สะท้อนให้เห็นภาพหลายแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงมีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในโลก และประเทศไทยก็ยังอยู่ในช่วงที่จะต้องรีบเร่งในการที่จะสร้างความเชื่อมั่น สร้างการลงทุนใหม่ ๆ เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

“ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงจังหวะที่สำคัญ และปัจจัยที่เป็นตัวที่พิจารณาสำหรับนักลงทุนก็คือเรื่องของการเมือง เราต้องมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือว่ามีความนิ่ง และต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องมานาน การเปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองตลอดเวลาก็จะทำให้นโยบายที่รัฐบาลเคยขับเคลื่อนนั้นหยุดชะงักไป มันก็ขาดความต่อเนื่อง ซึ่งถ้าผลออกมาท่านนายกได้ไปต่อ ผมคิดว่าก็จะทำให้ ระบบในประเทศเดินหน้าต่อได้ โดยนักลงทุนก็ยังเฝ้ารอลุ้นเหมือนกับทุก ๆ คน และคิดว่าทุกคนก็จะโล่งอกแล้วก็จะเดินหน้าต่อ แต่ถ้าเกิดว่าผลออกมาตรงกันข้าม ผมก็คิดว่ามันก็จะมีผลอันดับแรกก็คือช็อก แล้วก็ชะงัก ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะต้องกลับไปทบทวน ว่าการลงทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่”นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่าต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีคดี ตลอดระยะเวลากว่า 80 วัน ทุกคนก็ชะลออยู่แล้ว และรอดูกันอยู่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง ทุกฝ่ายมีการมอนิเตอร์ ติดตามผล แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอุตสาหกรรมจะหยุดหมดเพราะก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ด้วย ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศฝั่งอเมริกา ยุโรป อาจจะให้น้ำหนักในเรื่องนี้มาก เรียกว่าซีเรียสเลยก็ว่าได้ ทำให้มีนักธุรกิจหลายรายต้องการความชัดเจน และมีการสอบถามพูดคุยกับทาง ส.อ.ท อยู่ตลอดเวลา แต่ว่านักลงทุนทั้งโซนเอเชียเองอย่างนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย และอยู่ในประเทศมา 40 – 50 ปี ก็อาจจะเริ่มเรียนรู้ และสามารถปรับตัวได้

“ตลอดระยะเวลาในช่วงปี 1 ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลในชุดของนายเศรษฐา เพราะขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงที่เกิดความท้าทายของโลกมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามการค้า เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การที่ต้องเลือกข้าง การย้ายฐานการผลิตจำนวนมากที่ไม่เคยรุนแรงและเข้มข้นขนาดนี้มาก่อน และรวมถึงปัญหาสะสมของประเทศไทย ที่ลึกไปเชิงโครงสร้างมาตั้งนาน แต่ว่าท่านนายกก็สามารถเข้ามาทำงาน ปรับตัวและใช้เวลาไม่มาก 3-4 เดือน ก็เริ่มพอเข้าใจในหน้าที่และมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ได้”นายเกรียงไกร กล่าว

เพิ่มเพื่อน