'พิชัย' ลุยตั้งบอร์ดFinancial Hub เดินเครื่องร่างกฎหมายคุม5ธุรกิจดูดเงินทุนต่างชาติ

“พิชัย” เซ็นตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เข็นประเทศไทยเป็น Financial Hub ระดับภูมิภาค-โลก เข็น “เผ่าภูมิ” คุม เตรียมลุยร่างกฎหมายธุรกิจการเงินชุดใหม่ แจงหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์-เงื่อนไข-สิทธิประโยชน์-ยุทธศาสตร์ ใน 5 ธุรกิจสำคัญดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ พร้อมประชุมนัดแรก 13 ส.ค. นี้
13 ส.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ  โรจนสกุล รมช.การคลัง เปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งเป็นไปตามวินัยทัศน์ของรัฐบาลในการยกระดับการเงินของประเทศไทย โดยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษารายละเอียดของแนวทางในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub ให้ชัดเจน ครบถ้วน และบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม

“การส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub นั้น จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ที่เหมาะสม การให้สิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวก รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ด้านต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการเป็น Financial Hub ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหลายฉบับ ดังนั้น รมว.การคลังจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา” นายเผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ประกอบด้วย นายเผ่าภูมิ รมช.การคลัง เป็นประธาน พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน ส่วนคณะกรรมการ อาทิ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ประธานสมาคมธนาคารไทย, ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ประธานสมาคมสถาบันการเงินนานาชาติ, นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนายกสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่ศึกษา เสนอแนะ และจัดทำนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองนำเสนอต่อ รมว.การคลัง เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ เป็นต้น

“คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่ในการร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับ เพื่อเซ็ตองค์กรขึ้นมา ในการทำหน้าที่ดูแลเงื่อนไข กำหนดหลักเกณฑ์ กำหนดสิทธิประโยชน์ กำหนดยุทธศาสตร์และวางหลักเกณฑ์เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ใน 5 ธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกกิจประกันภัย โดยกระบวนการร่างกฎหมายธุรกิจการเงินชุดใหม่อาจจะใช้เวลา แต่ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งคณะกรรมการฯ จะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 13 ส.ค. นี้” นายเผ่าภูมิ ระบุ

เพิ่มเพื่อน