'จุลพันธ์' ยังมั่นใจคดีนายกฯฉลุย ไม่กระทบแจกดิจิทัลวอลเล็ตแน่

“จุลพันธ์” ยังมั่นใจคดี “เศรษฐา” 14 ส.ค. นี้ ฉลุย ไม่กระทบแจกหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตอบปมผู้ตรวจการแผ่นดินแนะรับข้อสังเกต แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์ ห่วงโครงการเอื้อบางกลุ่ม ยันมีกลไกตรวจยิบ พร้อมตัดร้านขนาดใหญ่ออก รับกู้ขาดดุลเพิ่มดันหนี้สาธารณะพุ่ง แต่จะบริหารงานอย่างระมัดระวังภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง

9 ส.ค. 2567 - นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังมั่นใจว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการพิจารณาคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 ส.ค. นี้ จะไม่มีผลกับตัวโครงการดิจิทัล วอลเล็ตอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลมั่นใจอยู่แล้วว่าจะผ่านไปได้ ไม่มีอะไร และมองว่าหากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ก็น่าจะมีผลดีกับตลาดทุน นักลงทุนจะคลายความกังวลลง ส่งผลให้สถานการณ์ในตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น แต่ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าปัจจัยที่มีผลกับตลาดทุนไทยในขณะนี้ ยังมีปัจจัยภายนอก จากต่างประเทศเข้ามากดดัน และสร้างความผันผวนให้การลงทุน โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ

ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งรายงานถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แนะให้รัฐบาลระวังโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมทั้งให้นำความเห็นและข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มาประกอบการพิจารณาในหลายประเด็น ว่า ยืนยันว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้รับความคิดเห็นของทุกหน่วยงานที่ส่งเข้ามาทุกครั้ง เพื่อนำไปพิจารณาดูว่าจะสามารถดำเนินการในประเด็นใดได้บ้าง สะท้อนจากที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดและข้อจำกัดต่าง ๆ ในโครงการ ซึ่งเป็นไปตามกลไกเพื่อให้ล้อไปกับข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์จากทุกหน่วยงานต่าง ๆ ที่รัฐบาลรับมาและดำเนินการแล้ว

“ไม่กังวลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานอยู่แล้ว และมีการดำเนินการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของโครงการตามความเหมาะสมเรียบร้อย” นายจุลพันธ์ ระบุ

สำหรับความคิดเห็นและข้อสังเกตของ ธปท. เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) การกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต และคณะอนุกรรมการกำกับการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพราะหากไม่ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ความเสี่ยงที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มนั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า รัฐบาลมีกลไกหลายกลไกที่ดำเนินการในเรื่องนี้ เช่น เรื่องการบังคับการใช้จ่าย 2 รอบ รวมถึงการตัดร้านค้าขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ ก็เป็นอีกกลไกที่ตอบสนองโจทย์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่กระจายตัว ไม่กระจุกตัว

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น และมินิบิ๊กซี เป็นต้น สามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น ยืนยันว่าร้านสะดวกซื้อดังกล่าวเข้าร่วมโครงการได้จริง แต่ในคำว่าร้านสะดวกซื้อก็ไม่ได้มีแค่ร้านดังกล่าว เพราะตามข้อเท็จจริงรัฐบาลมีลิสต์รายชื่อร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศในปัจจุบันเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามชนบท ดังนั้นการจะไปตัดสิทธิ์ร้านสะดวกซื้อทั้งหมดก็อาจจะต้องมาพิจารณากันอย่างละเอียด

ขณะที่ความเห็นของสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคเพิ่มเติม แต่ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุของการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว นั้น รมช.การคลัง ให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน

“กลไกนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่ไม่ใช่มิติเดียว โดยรัฐบาลยังเร่งดำเนินการในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม s-curve การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้นเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แต่ยังเป็นกลไกในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทับในระยะยาวด้วย วันนี้เราก็เห็นจากการที่มีคนเข้ามาเรียนรู้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าเหตุใดรัฐบาลไม่แจกเป็นเงินสด ก็อยากชี้แจงว่า ด้วยกลไกนี้รัฐบาลต้องการที่จะปรับให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันและรองรับเศรษฐกิจที่มันเปลี่ยนไปในรูปแบบดิจิทัล” รมช.การคลัง กล่าว

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง แม้จะต้องยอมรับว่าโครงการจะต้องมีการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะเข้ามาเติมในหนี้สาธารณะ เป็นการขาดดุลเพิ่มเติม แต่รัฐบาลจะบริหารงานอย่างระมัดระวัง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 11.5 ล้านล้านบาท แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านล้านบาท เป็น 10 ล้านล้านบาท แต่ไม่มีกลไกในการบริหาร พัฒนาหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเลย ขณะนั้นควรเตือนกันบ้าง แต่ทำไมไม่เตือน

เพิ่มเพื่อน