'ภูมิธรรม' โชว์ผลสำเร็จมาตรการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ปลื้มข้าวเจ้านิวไฮรอบ 20 ปี

“ภูมิธรรม” โชว์ผลสำเร็จมาตรการบริหารจัดการสินค้าเกษตร เผยพืชเกษตรหลัก ข้าวเจ้านิวไฮรอบ 20 ปี ยาง 10 ปี ปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทรงตัวสูง พืชรอง ใช้แนวคิดใหม่ “คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก” ดึงผู้ประกอบการ ปั๊มนน้ำมัน ห้าง หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม ช่วยซื้อผลผลิต ดันราคาเพิ่ม รัฐไม่ต้องแทรกแซง ทำประหยัดงบ เผยราคาพืชหลัก พืชรอง เพิ่มขึ้น 23% มูลค่าเฉียด 2 แสนล้านบาท สร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกร 7.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

9 ส.ค. 2567 -นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงความสำเร็จของการขับเคลื่อนมาตรการดูแลพืชรอง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนรายใหญ่กว่า 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงาน ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 กระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ บริษัทเอกชนรายใหญ่ เข้าร่วมว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการดูแลสินค้าเกษตร ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรกว่า 27 ล้านคน หรือ 40% อยู่ในภาคการเกษตร มีปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก 87.7 ล้านตัน ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์ม ยางพารา และพืชรอง 8.24 ล้านตัน ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก รวมปีละกว่า 96 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่า 1.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9% ของ GDP และไทยสามารถสร้างรายได้จากส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม ในปี 2566 กว่า 1.69 ล้านล้านบาท

โดยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการดูแลพืชเกษตร ได้วางแผนการจัดผลผลิต มีปฏิทินสินค้ารู้ว่าแต่ละเดือน แต่ละช่วง สินค้าอะไรจะออกสู่ตลาด และได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า ไม่รอให้เกิดปัญหา ซึ่งในส่วนของพืชเศรษฐกิจตัวหลัก ได้มีมาตรการบริหารจัดการ และดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวหอมมะลิราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี ข้าวเจ้าราคาสูงสุดในรอบ 20 ปี ข้าวเหนียวสูงสุดในรอบ 4 ปี ยางแผ่นดิบ น้ำยาง ราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ในเกณฑ์สูงที่เฉลี่ย 6 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงสุด 6.40 บาท/กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 11.2 บาท/กก. มันสำปะหลัง ราคา 2.75-3.15 บาท/กก. และยังได้แก้ช่วยแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง ด้วยการจัดหาท่อนพันธ์ทนทานและต้านทานโรค

ทั้งนี้ เมื่อบริหารจัดการพืชเศรษฐกิจตัวหลักได้สำเร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการเชิงรุก ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ควบคู่ไปกับพืชหลัก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับนโยบาย และดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง 2 ท่าน เริ่มจากมีมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 ที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด และยังได้มีแผนดูแลพืชเศรษฐกิจตัวรอง ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หน่วยงานพันธมิตร ในแผนงาน “คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก” ที่จะร่วมมือกันในการบริหารจัดการพืชรอง ตั้งแต่ช่วงผลผลิตออกจนผลผลิตสู่ตลาด โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยรับซื้อพืชรองต่างๆ ไปจำหน่าย แปรรูป หรือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่แต่ละบริษัทมีงบประมาณในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการช่วยดูดซับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไปในคราวเดียวกัน  

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายพันธมิตร คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก มีจำนวน 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงาน อาทิ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจปั้มน้ำมัน ได้แก่ ปตท. พีที บางจาก ซัสโก้ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กลุ่มธุรกิจหมู่บ้าน-คอนโด ได้แก่ แสนสิริ แอสเซทไวส์ เสนา ไอริส ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐพันธมิตร อาทิ กรมราชทัณฑ์ โดยมีเป้าหมายช่วยดูดซับเชื่อมโยงผลไม้ พืช 3 หัว ผัก เป้าหมาย 321,579 ตัน แยกเป็นผลไม้กว่า 2 แสนตัน พืช 3 หัว 2 หมื่นตัน ผัก 3 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท

โดยปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของทุเรียน และจะทยอยส่งมอบมังคุด ลำไย ไปจนถึงสิ้น ก.ย.นี้ รวม 33,500 ตัน ไปยังเรือนจำ ธนาคาร ห้าง โรงแรม นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล บริษัทเอกชนรายใหญ่ และมีแผน ส่งมอบต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ทั้งผลไม้ ส้ม ลองกอง พืชผัก พืช 3 หัว หอมแดง กระเทียม หอมใหญ่ ที่จะเริ่มออกมากในช่วงสิ้นปีไปจนถึงต้นปีหน้า

ทั้งนี้ ผลการดำเนินมาตรการดูแลสินค้าเกษตร ทั้งพืชหลัก พืชรอง สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของ ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้ พืช 3 หัว เฉลี่ยสูงขึ้นจากปีก่อน 23% ทำให้เกษตรกร กว่า 7.4 ล้านครัวเรือน มีรายได้รวม เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท (196,536 ล้านบาท) จากราคาที่ปรับสูงขึ้นกว่าปีก่อน

สำหรับพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรองที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปดูแล มีจำนวน 18 ชนิด แยกเป็นผลไม้ 11 ชนิด ได้แก่ 1.ทุเรียน 2.มังคุด 3.เงาะ 4.ลองกอง 5.ลำไย 6.สับปะรด 7.ลิ้นจี่ 8.ส้มโอ 9.ส้มเขียวหวาน 10.มะยงชิด 11.มะม่วง ผัก 4 ชนิด ได้แก่ 1.มะนาว 2.มะเขือเทศ 3.ฟักทอง 4.พริกขี้หนูจินดา และพืชสามหัว 3 ชนิด ได้แก่ 1.หอมแดง 2.หอมหัวใหญ่ 3.กระเทียม

เพิ่มเพื่อน