'แบงก์ชาติ' รับSMEไทยยังไกลเศรษฐกิจสีเขียว ลุยเข็นกรีนไฟแนนซ์หนุนเติบโตอย่างยั่งยืน

“แบงก์ชาติ” รับเอสเอ็มอีไทยยังไกลเศรษฐกิจสีเขียว ลุยจับมือธนาคารพาณิชย์เข็น “กรีนไฟแนนซ์” ปูพรมธุรกิจ-เอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

7 ส.ค. 2567 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Financing the Transition การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ ว่า หากพิจารณาบริบทและโครงสร้างของภาคธุรกิจไทยในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ายังพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง และมีการใช้เทคโนโลยีแบบเดิมที่ม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควรอยู่พอสมควร ขณะที่เครื่องมือสนับสนุนหรือแรงจูงใจให้แต่ละภาคส่วนปรับตัวนั้นยังมีอยู่ไม่มาก โดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอีที่ต้องการการปรับตัว แต่ยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างเต็มที่

โดยข้อจำกัดนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเอสเอ็มอีในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นการสนันบสนุนทางการเงินเพื่อการปรับตัวจากเศรษฐกิจแบบเดิม สู่เศรษฐกิจที่เน้นเรื่องความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ (Financing the Tranition) จึงจำเป็นอย่างยิ่งกับบริบทของเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้

“กรีนไฟแนนซ์ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลาดกรีนของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวดีแล้ว สะท้อนจากบริษัทปูที่เข้าเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJST) ถึง 26 บริษัท สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ธุรกิจขนาดเล็ก และเอสเอ็มอียังมีความตระหนักถึงความจำเป็นและความพร้อมของการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อยู่มาก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยในหลายมิติค่อนข้างชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างภาคการผลิตและส่งออก ซึ่งยังอยู่ในธุรกิจโลกเก่า โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังมีความเป็นกรีนค่อนข้างน้อย แต่หากเราเน้นเรื่องกรีนเป็นหลัก เช่น สถาบันการเงินจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจแบบเดิม ก็เป็นสิ่งที่ ธปท. ไม่อยากเห็น เป็นโจทย์ที่ไม่เหมาะกับบริบทของธุรกิจไทย หรือประเทศอื่นในภูมิภาค โดยสิ่งที่ ธปท. อยากจะเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่าน คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในโครงสร้างแบบเก่า ก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น หลักการสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับตัวในการเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องจังหวะเวลา และความเร็วให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งต้องสร้างสมดุลสู่การเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน และการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบที่จะเกิดกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้อาจจะต้องเริ่มก้าวเล็ก ๆ ที่จับต้องและปฏิบัติได้ เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องการยิงพลุ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำ CSR

“ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ธปท. และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 8 แห่ง ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ และมีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจไทย และเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง สู่การเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมและจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขยายผลในวงที่กว้างมากขึ้นได้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

เพิ่มเพื่อน