เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 35.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณอาจลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนก.ย. นี้

3 ส.ค. 2567 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนหลักๆ จาก 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม นำโดย เงินเยนที่แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 0.25% (จาก 0.00-0.10%) พร้อมกับวางแนวทางการทยอยลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า ซึ่งสะท้อนสัญญาณในเชิงคุมเข้มต่อเนื่อง 2. การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และ 3. สถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับลดลง โดยเฉพาะหลังจากการประชุมเฟด ซึ่งถ้อยแถลงของประธานเฟดสะท้อนความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. เป็นอย่างเร็ว หากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงมีทิศทางชะลอตัว

ในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 35.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ก.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-2 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,647 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 22,331 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 22,333 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (5-9 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. และปัจจัยทางการเมืองของไทย รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM และ PMI ภาคบริการเดือนก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือนก.ค. อาทิ ข้อมูลการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน

ด้านหุ้นไทยขยับขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆ จากความหวังเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในช่วงเดือนก.ย. การปรับเกณฑ์ของกองทุน TESG ซึ่งถูกคาดหมายว่า จะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นไทย รวมถึงแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและพลังงาน หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นต่อหลังเสร็จสิ้นการประชุมเฟด ซึ่งแม้เฟดมีมติคงดอกเบี้ย แต่ก็ได้ส่งสัญญาณสะท้อนว่าอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ตามตลาดคาดการณ์

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ตามภาพรวมหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลงจากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่การย่อตัวลงของหุ้นไทยถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับหุ้นภูมิภาคและยังคงยืนอยู่เหนือแนว 1,300 จุดได้ต่อเนื่อง

ในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,313.08 จุด เพิ่มขึ้น 0.45% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 39,969.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.71% มาปิดที่ระดับ 322.56 จุด

สัปดาห์ถัดไป (5-9 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,300 และ 1,290 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,325 และ 1,335 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศ ผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ของบจ.ไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือนมิ.ย. ดัชนี ISM และ PMI ภาคบริการเดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค และตัวเลขการส่งออก

เพิ่มเพื่อน