'คลัง' คาดก.ย.นี้ชงครม.เคาะหวยเกษียณ ลุ้นขายงวดแรกต้นปี68 ยันไม่กระทบงบ

“คลัง” เร่งแก้กฎหมาย กอช. เดินหน้าหวยเกษียณ มั่นใจชง ครม. พิจารณาได้ภายใน ก.ย. นี้ คาดเปิดจำหน่ายงวดแรกต้นปี 2568 กำชับเข้มต้องไม่กระทบรายได้ผู้ค้าสลากฯ เดิม พร้อมยืนยันไม่สะเทือนงบหลวง ชี้ใช้เงินต่ำแค่ปีละ 700-800 ล้านบาท

31 ก.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (สลากเกษียณ หรือหวยเกษียณ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ โดยคาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จและสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน ก.ย. 2567 และคาดว่าจะสามารถเปิดจำหน่ายงวดแรกได้ในช่วงต้นปี 2568

สำหรับรูปแบบของหวยเกษียณนั้น ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ แต่ยืนยันว่าจะเป็นสลากแบบขูดแน่นอน ซึ่งเบื้องต้นมี 3 รูปแบบที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ 1. สลากขูดแบบตัวเลข 2. สลากขูดแบบรูปภาพ และ 3. สลากขูดแบบชื่อจังหวัด หรืออำเภอ ซึ่งคาดว่าจะข้อสรุปเพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาพร้อมกับการแก้ไขกฎหมายของ กอช.

“ยืนยันว่าหวยเกษียณนั้น ผู้ซื้อจะได้ประโยชน์ 3 เด้ง คือ ได้ลุ้นรางวัลแจ็คพอร์ต 1 ล้านบาททุกวันศุกร์ ได้เก็บออมทุกบาทที่ซื้อหวย และได้ผลตอบแทนการลงทุนตลอดช่วงเวลาการออม โดยรัฐบาลได้มอบนโยบายหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า การดำเนินการจะต้องไม่กระทบกับรายได้ของผู้ค้าสลากกินแบ่งเดิม ส่วนรูปแบบนั้นเบื้องต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาใน 3 ตัวเลือก คือ ตัวเลข รูปภาพ และชื่อจังหวัดหรืออำเภอ โดยจะจำหน่ายใบละ 50 บาท เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 5 ล้านใบต่องวด รางวัลแจ็กพอร์ต 1 ล้านบาท” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าระบบการจำหน่ายจะไม่ซับซ้อน เพราะ กอช. มีแอปพลิเคชันอยู่แล้ว โดยจะมีการเพิ่มฟีเจอร์เข้าไป ผู้ซื้อที่ถูกรางวัลเงินจะโอนเงินเข้าพร้อมเพย์ของผู้ถูกรางวัล ส่วนผู้ที่ไม่ถูกรางวัลเงินจะถูกออมเข้าบัญชี กอช. แต่หากในงวดดังกล่าวหากสลากขายไม่หมด หรือออกรางวัลไม่หมดก็ให้ทบรางวัลในงวดถัดไป ส่วนการออกรางวัลนั้นจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และยืนยันว่าการดำเนินการในเรื่องนี้จะไม่กระทบกับงบประมาณของรัฐ เพราะถือว่าต่ำมาก เพียงปีละ 700-800 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลัง, กอช. และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผนึกกำลัง ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชน ก่อนเริ่มใช้งานจริง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อขัดเกลาให้ได้นโยบายที่ดีที่สุด โดยมีกำหนดการ ดังนี้ กรุงเทพ วันที่ 31 ก.ค. 2567, พังงา วันที่ 14 ส.ค. 2567, สกลนคร วันที่ 25 ส.ค. 2567 และพิษณุโลก วันที่ 28 ก.ย. 2567

เพิ่มเพื่อน