วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จัดงานเสวนา แนวโน้ม Mega Trends for SME 2024 : การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลและความยั่งยืน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยี ก้าวทันเมกะเทรนด์ของโลกด้านความยั่งยืน ขยายตลาดเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จับตาธุรกิจเด่นแห่งยุคไม่ว่าจะเป็นตลาดดิจิทัล ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และธุรกิจสุขภาพ
30 ก.ค. 2567 – อุดมธิปก ไพรเกษตร รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมี 4 แนวโน้มสำคัญ ได้แก่ 1. การนำเทคโนโลยี AI และ IoT มาใช้อย่างแพร่หลาย SME จำนวนมากกำลังลงทุนในระบบอัตโนมัติและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการ 2. การมุ่งเน้นความยั่งยืน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ SME ต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 3. การขยายตัวของตลาดออนไลน์ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ SME ต้องพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ให้แข็งแกร่ง 4. การพัฒนาทักษะแรงงาน การฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะดิจิทัลและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ SME ในการแข่งขัน และ 5. การร่วมมือและสร้างเครือข่าย SME หลายแห่งกำลังสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแบ่งปันทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา SME ทุกมิติ ได้จัดงานเสวนา Mega Trends for SME 2024 : การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลและความยั่งยืน ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนักศึกษา สู่การก้าวเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยี ก้าวทันเมกะเทรนด์ของโลกด้านความยั่งยืน
กฤษกร สุขเวชชวรกิจ หัวหน้าหน่วยการตลาดและสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะนำองค์ความรู้ไปใช้ในการทำงานเพื่อนำองค์กรสู่ความสำเร็จ พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ ด้วยการเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างแท้จริงกับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในปี 2566 ถึง 6,317,181 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.2% ของ GDP รวมของประเทศ และยังเป็นกลุ่มธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถเติบโตได้ในตลาดโลก ซึ่งนักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้จากกรณีศึกษาไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา กล่าวว่า งานใน ครั้งนี้ ได้มีผู้เชี่ยวชาญจากธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการตลาดดิจิทัล ธุรกิจสัตว์เลี้ยง และธุรกิจสุขภาพ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในปี 2567 จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค SME ที่สามารถนำเสนอนวัตกรรมและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะทางเหล่านี้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง คือ “การเข้าใจตลาดดิจิทัล” โดย คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด ได้ชวนเจาะลึกด้านธุรกิจการตลาดดิจิทัล Digital Marketing Trend พร้อมเผยภาพรวมการตลาดผ่าน AI เพื่อส่งเสริม SME รวมถึง การจัดการกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแนวโน้มของตลาดดิจิทัลที่ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับให้เข้ากับผู้บริโภคยุคใหม่
ขณะเดียวกัน “ธุรกิจสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง และเป็นหนึ่งในธุรกิจเด่นแห่งยุค โดยเฉพาะการที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยและความนิยมป้องกันก่อนเกิดโรค ภายในช่วงเสวนา คุณธงชัย โชคถนอมทรัพย์ นายกสมาคมการค้าธุรกิจผู้สูงอายุและเวลเนส เพื่อการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน เผยถึง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถานพยาบาลขนาดเล็กถึงขนาดกลางในปี 2024 โมเดลธุรกิจหรือบริการใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อ SME ด้านสาธารณสุขที่ควรพิจารณาในอนาคตอันใกล้ และการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ด้านแรงงานสำหรับ SME ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุขภาพ
อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังมาแรง คือ “ธุรกิจสัตว์เลี้ยง” จากการที่คนยุคใหม่มีบุตรน้อยลงและนิยมเลี้ยงสัตว์เปรียบเสมือนคนในครอบครัวมากขึ้น คุณธีระนันท์ เฉลยวิมาน ผู้บริหารธุรกิจสัตว์เลี้ยง และ ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า เผยถึงบริการที่เข้ามาตอบโจทย์คนยุคใหม่มากขึ้น อย่างการดูแลสัตว์เลี้ยงอัจฉริยะ โดยใช้ AI และ IoT ในการดูแลสัตว์เลี้ยงระยะไกล เช่น ระบบให้อาหารอัตโนมัติ และการตรวจสุขภาพทางไกล และอาหารสัตว์เลี้ยงแบบปรับแต่งตามพันธุกรรม การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปรับแต่งตามข้อมูล DNA เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุด
“นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ต้องการสานต่อธุรกิจโดยมีนวัตกรรมในการขับเคลื่อน สามารถเข้าร่วมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเอสเอ็มอีไทยรุ่นใหม่ SME EXECUTIVE โดย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมกับ บริษัท มีเดียรีพับพลิค จำกัด จัดทำขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และเป็นตัวกลางในการสร้างเครือข่ายของนักธุรกิจรุ่นใหม่ เชื่อมโยงและสานต่อแนวทางธุรกิจจากยุค Gen-X และ Gen-Y สู่ยุค Gen-Z สร้างการเตรียมพร้อมให้กับคนยุคเจนเนอเรชั่นถัดไป พร้อมเสริมสร้าง บุคลิกภาพ และความคิดแบบผู้นำรุ่นใหม่ ศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้าง สัมพันธภาพระหว่างผู้เข้าอบรม เตรียมพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และเทรนด์ธุรกิจสีเขียวสู่ความยั่งยืน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงรับสมัคร โดยจะเริ่มการอบรมในวันที่ 6 กันยายนนี้ ดร.อุดมธิปก กล่าวทิ้งท้าย