'โจรออนไลน์' อ้างหน่วยงาน กฟภ. หลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน

AOC 1441 เตือนภัย “โจรออนไลน์” อ้างหน่วยงาน กฟภ. หลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน เสียหายกว่า 4 ล้านบาท

30 ก.ค. 2567 – นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 25 – 28 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 4,325,985บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค แจ้งว่าจะทำการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าให้ใหม่และให้รับเงินค่าประกันคืน ให้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชัน โดยทำตาม คำแนะนำของเจ้าหน้าที่จนเสร็จขั้นตอน ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเช็คยอดเงินบัญชีของตน พบว่า ได้มีการถูกโอนออกไป ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 40,157 บาท โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อเงินสด ผ่านทาง Facebook ชื่อเพจ Smart Lone จึงสนใจ ทักไปสอบถาม จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อยื่นสินเชื่อ จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว แต่ต้องโอนเงินเพื่อเป็นการประกันสินเชื่อ ผู้เสียหายจึงโอนเงินไป มิจฉาชีพแจ้งภายหลังว่า ผู้เสียหายโอนผิดบัญชีไม่ได้รับเงินค่าประกัน จึงโอนไปอีกครั้งแต่ก็ยังไม่ได้เงินกู้ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายทราบว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้ทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 810,000 บาท ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพชักชวนหารายได้พิเศษอ้างผลตอบแทนดี ผ่านช่องทาง Line เป็นงาน กดออเดอร์สินค้าในระบบและจะได้รับค่าคอมมิชชัน จากนั้นส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลสมัคร สมาชิกและชำระค่าสมาชิกแล้วดึงเข้า Group Line มีตัวแทนบริษัทคอยแนะนำ ให้โอนเงิน ลงทุนเข้าไปในระบบครั้งแรกก่อน ในระยะแรกได้ผลตอบแทนจริงเพราะโอนเงินลงทุน ยังไม่มาก ต่อมาภายหลังให้โอนเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่สามารถถอนเงิน ออกมาได้ อ้างทำภารกิจไม่สำเร็จต้องเสียค่าปรับทางบริษัทและชำระค่าภาษี ผู้เสียหาย เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 402,371 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook อ้างเป็นเพจปลอม เอ จักรพรรดิ มั่งคั่ง โฆษณาชวนเชื่อร่วมทำบุญ 1,000 บาท ได้พระ 1 องค์(หลวงปู่ศิลา) และลุ้นรางวัลสร้อยคอ ทองทำหนัก 5 บาทและรถยนต์ ผู้เสียหายสนใจจึงร่วมทำบุญ 1,000 บาท มิจฉาชีพแจ้งว่า เป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ให้ผู้เสียหายชำระค่าภาษีและ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ภายหลังผู้เสียหายทราบว่าเป็นเพจปลอม ถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 490,000 บาท ผู้เสียหายได้สั่งซื้อสินค้าประเภทรถยนต์มือสอง ผ่านทาง Facebook โดยได้ตกลงซื้อขาย และโอนเงินชำระเรียบร้อย ต่อมาภายหลังมิจฉาชีพแจ้งว่าขอให้โอนค่าขนส่งเพิ่ม ผู้เสียหาย แจ้งกลับทางเพจไปว่าขอชำระค่าขนส่งปลายทางเมื่อได้รับรถยนต์ มิจฉาชีพอ้างว่าไม่ได้ ต้องโอนเงินเลย จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 6,068,513 บาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

1.สายโทรเข้า 1441 จำนวน 879,315 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,269 สาย

2.ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 247,769 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,091 บัญชี

3.ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 73,889 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.82 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 59,321 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.94 (3) หลอกลวงลงทุน 41,932 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 16.92 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 19,042 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.69 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 18,307 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.39 (และคดีอื่นๆ 35,278 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.24)

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้ใช้วิธีการรูปแบบต่างๆ ทั้งการอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ หลอกให้โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อได้เงินคืน หลอกเป็นธนาคารปล่อยสินเชื่อกู้ยืมเงิน อ้างให้โอนเงินผิดบัญชี ต้องโอนให้เพื่อปลดล็อกระบบ และหลอกให้โอนเงินลุ้นรับรางวัล โดยเสียค่าธรรมเนียมและภาษี หรือหลอกซื้อขายสินค้า จะเห็นว่าส่วนใหญ่ใช้การติดต่อผ่านโซเชียล สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย ทั้งFacebook และ Line เป็นหลัก และพบว่าผู้เสียหายละเลยข้อปฏิบัติ 4 ไม่ คือ 1.ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ควรตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของตัวบุคคลที่ติดต่อด้วยทางแพลตฟอร์มนั้นๆ โดยหากไม่แน่ใจ สามารถขอให้ชะลอการติดต่อหรือทำธุรกรรม ร่วมกันก่อน และไม่ควรด่วนตัดสินใจโอนเงินซื้อสินค้า หรือทำธุรกรรมใดๆ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ผ่านโทรสายด่วน GCC 1111 หรือสอบถามข้อมูลกับทางธนาคารโดยตรง ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรม อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยล่าสุดได้จัดโครงการร่วมกับ Tik ToK ภายใต้ชื่อแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีอี เตือน ข่าวปลอม ภาพผู้ต้องหา THE iCON GROUP ในเรือนจำ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เผยภาพผู้ต้องหา THE iCON GROUP ในเรือนจำ” รองลงมาคือเรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ผู้ลงทะเบียนได้รับทุกคนในเดือนธันวาคม จะโอนเงินเข้าแอปฯ ทางรัฐ” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความวิตกกังวล ความสับสน ความเข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

ดีอีลุยจัดระเบียบเข้มข้นบี้ล้างบาง SMS แนบลิงก์หลอกลวง

“ดีอี” เดินเครื่องล้างบาง SMS แนบลิงก์หลอกลวง เร่งจัดระเบียบเข้ม ผุดมาตรการ Cleansing Sender Name บี้ให้ผู้ส่งข้อความต้องลงทะเบียนใหม่ทั้งระบบภายในปี 2567 หวังช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

เตือนระวังข่าวปลอม ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ดีอี เตือน อย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม “เปิดลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเพจ หน่วยงานคุ้มครองสิทธิ์อาชญากรรมทางออนไลน์” หวั่นปชช.สูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล