'บสย.' โชว์ครึ่งปีค้ำประกันอุ้มSME1.9หมื่นล้าน

“บสย.” เปิดผลงานครึ่งแรกปี 67 ลุยค้ำประกันสินเชื่ออุ้มเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน 4.54 หมื่นราย วงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 1.89 หมื่นล้านบาท ช่วยรักษาการจ้างงาน 1.68 แสนตำแหน่ง สร้างสินเชื่อในระบบ 1.96 หมื่นล้านบาท ฟุ้ง PGS11 สัญญาณดี แบงก์ทยอยส่งคำขอค้ำประกัน พร้อมวาง 3 เป้าหมายครึ่งปีหลัง ช่วยเอสเอ็มอีได้สินเชื่อกว่า 3 หมื่นราย

29 ก.ค. 2567 – นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงผลดำเนินงานของ บสย. ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 67) ว่า ในส่วนของผลงานค้ำประกันสินเชื่อนั้น สามารถช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ 45,440 ราย เป็นกลุ่มรายย่อย (Micro) ในสัดส่วนถึง 94% ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 80,000 บาทต่อราย ส่วนอีก 6% เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 5.31 ล้านบาทต่อราย วงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ ราว 18,946 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 168,762 ตำแหน่ง สร้างสินเชื่อในระบบ 19,610 ล้านบาท

และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 76,771 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เป็นมาตรการรัฐ และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. พัฒนาเอง ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2 วงเงิน 9,511 ล้านบาท สัดส่วน 50% ช่วยเอสเอ็มอีได้สินเชื่อ 1,532 ราย (สัดส่วนวงเงินค้ำประกันสูงสุด) 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดำเนินการโดย บสย. จำนวน 5,126 ล้านบาท สัดส่วน 27% (รวม 4 โครงการย่อย ได้แก่ รายสถาบันการเงินระยะ 7 (BI7) / โครงการ PGS Renew / Smart Plus & Top up และ RBP ช่วยเอสเอ็มอีได้สินเชื่อ 2,391 ราย และ3.โครงการตามมาตรการรัฐ จำนวน 4,309 ล้านบาท สัดส่วน 23% ช่วยเอสเอ็มอีได้สินเชื่อ 41,568 ราย (ค้ำประกันจำนวนรายสูงสุด)

สำหรับประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 27.5% 2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ 13.5% และ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 9.6% ซึ่งทั้ง 3 หมวดครองสัดส่วนค้ำประกัน 51% หรือราว 9,600 ล้านบาท ขณะที่ลำดับที่ 4-6 ได้แก่ สินค้าอุปโภค-บริโภค 9.5% อุตสาหกรรมยานยนต์ 8.5% และภาคเกษตรกรรม 8.2% ครอบคลุมทุกภูมิภาคของไทย คิดเป็นสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ เขตกรุงเทพ-ปริมณฑล 40% และภูมิภาค 60% ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18% ภาคใต้ 13% ภาคเหนือ 12% ภาคตะวันออก 9% ภาคกลาง 5% และภาคตะวันตก 3%

นอกจากนี้ บสย. ยังประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกเคลม ด้วยการประนอมหนี้ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (TDR) “บสย. พร้อมช่วย” (มาตรการ 4 สี ม่วง เหลือง เขียว และ ฟ้า) โดยมีลูกหนี้ บสย. ได้รับการประนอมหนี้ ระหว่าง ม.ค. – มิ.ย. 2567 ดังนี้ 1.ลูกหนี้ บสย. ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (TDR) ณ ม.ค.-มิ.ย. 2567 จำนวน 1,792 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 1,071 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้กลุ่มสีเขียว ที่ยังมีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นบางส่วนแต่ต้องการปลอดดอกเบี้ย ในสัดส่วนถึง 78% โดยยอดสะสมเอสเอ็มอี ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับการประนอมหนี้ตั้งแต่ เม.ย. 2565 – มิ.ย. 2567 รวมกว่า 15,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 7,000 ล้านบาท และ2.ลูกหนี้ บสย. เข้าร่วมมาตรการ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) จำนวน 100 ราย

นายสิทธิกร กล่าวอีกว่า การดำเนินงานครึ่งปีหลัง บสย. วาง 3 เป้าหมาย พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่สตาร์ทอัพ และกลุ่มธุรกิจ 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล IGNITE Thailand ผ่าน 1.ขับเคลื่อนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ยั่งยืน (PGS 11 ) วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลไกการขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งเป้าทั้งโครงการ ช่วยเอสเอ็มอี 77,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 200,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินกว่า 60,000 ล้านบาท และรักษาการจ้างงาน 550,000 ล้านบาท

“ขณะนี้มีธนาคารเริ่มทยอยส่งคำขอค้ำประกันสินเชื่อมาแล้ว คาดว่า ภายในสิ้นปี 2567 กลไกค้ำประกันสินเชื่อ จากโครงการ บสย. SMEs ยั่งยืน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่น้อยกว่า 46,000 ราย และสร้างสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินกว่า 30,000 ล้านบาท” นายสิทธิกร กล่าว

2.ตั้งเป้าช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีที่ถูกเคลม เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นเม็ดเงินปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการ 3 สีจำนวน 2,500 ล้านบาท หรือราว 4,000 ราย และสนับสนุนช่วยลูกหนี้ ปลดหนี้ โดย บสย. ลดเงินต้น 15% คาดว่าจะมีลูกหนี้ร่วมปลดหนี้สะสมรวมมากกว่า 200 ราย และ3.ตั้งเป้าขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรพันธมิตร ตามเป้าหมาย บสย. SMEs Gateway เชื่อมโยง ผู้ประกอบการและเครือข่ายสนับสนุนองค์ความรู้ทางการเงิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.รวมไทยสร้างชาติ จี้พาณิชย์ควบคุมราคาสินค้า หลังชาวบ้านบ่นอุบข้าวของแพง

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาจากที่ตนได้ลงพื้นที่ย่านการค้า ร้านอาหารและตลาดต่าง ๆ ได้รับฟังเสียงสะท้อนปัญหาค่าครอง