'คลัง' ชี้ท่องเที่ยวยังหนุนเศรษฐกิจ สวนทางบริโภค-ลงทุนเอกชนอืด ห่วงราคาพลังงานกดดัน!

คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย. 2567 ยังฉลุย อานิสงส์ท่องเที่ยวหนุนไม่หยุด สวนทางบริโภค-ลงทุนอืด หลังยังกังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พ่วงราคาพลังงานสูงกดดันหนัก ส่งออกชะลอ ตลาดจีน-ญี่ปุ่นแผ่ว

29 ก.ค. 2567 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยประจำเดือน มิ.ย. 2567 ว่า ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม 2.74 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 22.3% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และ สปป. ลาว ตามลำดับ ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 21.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10.2%

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -1.5% ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -14.7% โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.9 จากระดับ 60.5 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ส่วนรายได้เกษตรกรที่แท้จริง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 5.9%

เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -3.2% ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -25.3% ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.5% ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือน มิ.ย. 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -18.7%

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 24,796.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.3% ตามการลดลงของสินค้าน้ำตาลทราย ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ สินค้าข้าว ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว โดยเมื่อจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวลดลงในตลาดจีน ที่ -12.3%, ญี่ปุ่น ที่ -12.3% และทวีปออสเตรเลีย ลดลง -4.5 ส่วนตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 16.1% อินเดีย ขยายตัว 10.1% อินโดจีน ขยายตัว 7.6% และสหรัฐฯ ขยายตัว 5.4%

ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนมิ.ย. 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.3% ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และผลผลิตในหมวดไม้ผล ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมัน และผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ ยังคงขยายตัว สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 87.2 จากระดับ 88.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กำลังซื้อผู้บริโภคยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้สินที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 2567 อยู่ที่ 0.62% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.36% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2567 อยู่ที่ 64.3% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ด้านเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2567 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพิ่มเพื่อน