“ธปท.” การันตีเศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว รับปีนี้ยังเปราะบาง ฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน เหตุท่องเที่ยวสาหัสหนัก แจงจีดีพีปี 65 โต 3.4% ไม่เลวร้าย พร้อมเปิด 4 เสี่ยงทำเศรษฐกิจสะดุด ยันเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ
12 ม.ค.2565 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังมีความเปราะบาง ฟื้นได้ไม่เร็ว ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเทียมกัน ลักษณะ K-SHAPE รวมทั้งยังฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ทำให้คาดว่ากว่าที่ไทยจะกลับมาฟื้นตัวในระดับปกติ คงเป็นช่วงไตรมาส 1/2566 แต่ความรู้สึกของประชาชนยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เพราะรายได้และการจ้างงานยังไม่เหมือนเดิม ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น ซึ่งถือเป็นตัวสร้างรายได้และการจ้างงานหลัก
ดังนั้น โจทย์หลักของ ธปท. คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด และห้ามสะดุด โดยปีนี้ความเสี่ยงที่จะสะดุดอยู่ 4 เรื่อง คือ 1.การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ที่เบื้องต้นประเมินว่าจะจบภายในครึ่งแรกของปีนี้ และไม่มีสายพันธุ์อื่นระบาดอีก เพื่อให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.6 ล้านคน โดยก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าในกรณีที่เลวร้ายจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทุก ๆ 1 ล้านคน จะกระทบกับจีดีพีลดลง 0.3-0.4%
“ธปท.ได้เตรียมความพร้อม เครื่องมือ หรือมาตรการเพียงพอที่จะรองรับหากเกิดเหตุการณ์ยืดเยื้อ เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้ระบบสถาบันการเงินทำงานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด อย่าให้อยู่ดี ๆ มีการตึงตัวของสินเชื่อจนเร็วเกินไป ที่ผ่านมาเราทำได้ดี ผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการรวมหนี้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
2.อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพขึ้นแต่รายได้ไม่ขึ้น แม้เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในเชิงมหภาคของไทยไม่ได้น่ากลัวเหมือนต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเงินเฟ้อของไทยค่อย ๆ ปรับขึ้น และ ธปท. คาดการณ์ตัวเลขเฟ้อปีนี้ที่ 1.7% โดยยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะต้องมีการปรับตัวเลขเงินเฟ้อใหม่ เพราะยังอยู่ในกรอบ 1-3% ขณะที่ราคาสินค้าที่ปรับขึ้นนั้น ไม่ได้ขึ้นเป็นวงกว้าง ส่วนใหญ่ปรับขึ้นเป็นจุด เช่น ราคาพลังงาน ราคาหมู ขณะที่เงินเฟ้อระลอก 2 ยังไม่เห็น เพราะภาพเศรษฐกิจ การจ้างงาน ค่าแรงยังไม่ขึ้น เพราะรายได้หายไปจากภาคท่องเที่ยว แต่ ธปท. ไม่ได้ชะล่าใจ หากอัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ก็ต้องมีมาตรการรองรับ
3. การเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของไทยที่แนวโน้มค่อย ๆ เพิ่ม ไม่ได้เพิ่มแบบร้อนแรง เพราะมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดการสะดุด โดยเฉพาะโครงการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำเนินการไปแล้ว และมาตรการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเกณฑ์จะออกในช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้ และ 4. สถานการณ์โลก หลังจากหลายฝ่ายมองภาพที่หลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยชะลอตัวลงนั้น ธปท.มองว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดจากปัจจัยดังกล่าวมีน้อยมาก ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ก็ไม่น่าจะเพียงพอที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดได้เช่นกัน เพราะการส่งผ่านการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่มีนัยยะกับประเทศอื่น รวมถึงไทย เริ่มน้อยลง
ส่วนกรณีที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักประเมินว่าไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวร่วมกับเงินเฟ้อสูง (stagflation) นั้น ธปท.ยืนยันว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะดังกล่าว โดยไทยเฟ้อยังต่ำเมื่อเทียบกับเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.4% ถือว่าไม่ได้เป็นการเติบโตที่เลวร้ายอะไร ดังนั้นหากถามว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ชะลอตัวลงหรือไม่ และในอนาคตจะมีโอกาสชะลอตัวลงไหม จึงมองว่าไม่น่าจะเจอสถานการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ปีนี้ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทาย ความเสี่ยงและเรื่องที่อาจไม่ได้คำนึงถึงแน่นอน ยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามมองไปข้างหน้า มองถึงโอกาสที่จะเข้ามา และปัจจัยที่จะทำให้เกิดการสะดุด เพื่อทำให้การฟื้นตัวที่อยากเห็นเกิดขึ้นได้จริง จึงได้มีการเตรียมมาตรการเพื่อรองรับปัจจัยต่าง ๆ ไว้ ซึ่งคิดว่ามาตรการที่มีอยู่เพียงพอกับสิ่งที่ประเมิน
“โจทย์สำคัญคือการทำให้มาตรการที่มีอยู่เดินหน้าไปได้จริง และหากสถานการณ์ไม่เหมือนที่คาดการณ์ ก็พร้อมที่จะออกมาตรการเพื่อรับมือทันที ยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้ชะล่าใจ พร้อมที่จะทำอะไรที่จำเป็น เพื่อทำหน้าที่ของ ธปท. ให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ความท้าทายที่จะเจอในปีนี้ แต่อยากให้มั่นใจว่าเป็นการทำหน้าที่สำหรับระยะยาวด้วย เพื่อทำให้มั่นใจว่าระบบการเงินของไทยมีความพร้อมรองรับเรื่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักกฎหมาย ชี้ไม่ง่าย 'โต้ง' ว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะแทรกแซงผู้ว่าแบงก์ชาติ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายคัดค้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เป็นตัวแทนฝ่
รัฐบาลดี๊ด๊า! เปิดทำเนียบฯ รับม็อบเชียร์ 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ หนุน 'กิตติรัตน์' นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 'รองเลขาฯนายกฯ' รีบหอบส่ง ธปท.ทันที แย้มวันนี้ไม่เลื่อนแล้ว
ม็อบบุกแบงก์ชาติ ยื่นอีก 5 หมื่นชื่อ ขวางการเมืองจุ้นเลือก 'ปธ.บอร์ด'
คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม เดินทางมาชุมนุมหน้าแบงก์ชาติ เพื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท.
‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า