ส.อ.ท. มึนยอดผลิตรถยนต์ยังวูบต่อเนื่อง งวดมิ.ย. ลดลงจากปีก่อน 20.11% รับการผลิตเพื่อขายในประเทศดิ่ง ยอดขายโดยรวมหดตัว 26.04% รับต้องปรับเป้าประมาณการผลิตจาก 1.9 ล้านคันเป็น 1.7 ล้านคัน
25 ก.ค. 2567 – นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าในเดือนมิ.ย. 2567 มี จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ทั้งสิ้น 116,289 คัน จากเดือนช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.11% และลดลงจากเดือนพ.ค. 7.82% จากการผลิตขายในประเทศที่ลดลงถึง 43.08% ตามยอดขายในประเทศที่ลดลง 26% และผลิตส่งออกลดลง 3.70% โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ตั้งแต่เดือนม.ค. – มิ.ย. 67 มีจำนวนทั้งสิ้น 761,240 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.39% เป็นผลมาจากรถยนต์นั่งที่ผลิตได้ลดลงกว่า 14.45% เมื่อเทียบกับมิ.ย. ปี 66
ทั้งนี้ การผลิตเพื่อส่งออกในเดือนมิ.ย. นี้ ผลิตได้ทั้งสิ้น 81,767 คัน ส่วนยอดรวม 6 เดือน ผลิตเพื่อส่งออกได้ 516,183 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.73% และ การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ผลิตได้ 34,522 คัน และยอดรวมช่วง 6 เดือน ผลิตได้ 245,047 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.30% ส่วนยอดผลิตรถจักรยานยนต์ เดือนมิ.ย. 67 ผลิตได้ทั้งสิ้น 183,528 คัน ลดลงจากข่วงเดียวกันของปีก่อน 25.78% โดยยอดรวมช่วง 6 เดือนมีจำนวนทั้งสิ้น 1,197,193 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13%
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมิ.ย. 67 มีจำนวนทั้งสิ้น 47,662 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. 67 ที่ 4.43% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 26.04% เพราะรถกระบะที่ขายลดลงถึง 36.44% และรถ PPV ลดลง 49.98% ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 150,456 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.07% โดยยอดรวมช่วง 6 เดือน รถยนต์มียอดขาย 308,027 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกัน 24.16%
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส.อ.ท จึงได้ปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มฯ ในปี 67 ใหม่ จาก 1,900,000 คันเป็น 1,700,000 คัน ลดลง 200,000 คัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 750,000 คันเป็น 550,000 คัน โดยมีปัจจัยลบของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง หนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของ GDP ประเทศในขณะที่รายได้ครัวเรือนยังต่ำจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ บวกกับการลงทุนจากต่างประเทศรวมทั้งดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังลดลงมาหลายเดือนแล้ว คนงานมีรายได้ลดลง ประชาชนระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์โดยเฉพาะรถกระบะ และจำนวนแรงงานวัยทำงานน้อยกว่าเพื่อนบ้านจากอัตราการเกิดต่ำ จะทำให้นักลงทุนลังเลในการลงทุนเพราะเป็นสังคมสูงอายุ
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง โดยรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลใช้จ่ายและลงทุนรวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามนโยบาย รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกยังเติบโตชึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสากรรมผลิตได้มากขึ้น คนงานมีรายได้มากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างประเทศไม่ขยายตัวหรือเพิ่มขึ้นอีกในแห่งอื่นของโลกซึ่งจะส่งผลถึงการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยได้ ภาระของลูกหนี้อาจลดลงซึ่งจะช่วยให้มีอำนาจซื้อมากขึ้น และคาดหวังว่าจะมีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นจากการเดินทางไปชักชวนนักลงทุนรายใหญ่ๆตั้งแต่ปีที่แล้วซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเติบโต หนี้ครัวเรือนจะได้ลดลง โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของครึ่งปีหลังปี 2567 จะดีขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน มิ.ย. ส่งออกได้ 89,071 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 0.24% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.28% จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังเติบโต และส่งออกรถยนต์นั่ง HEV เพิ่มขึ้นถึง 356.12% จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ มูลค่าการส่งออกรถยนต์ 63,099.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.83% รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนมิ.ย. 2567 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 84,108.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.20%