'สุริยะ' ยันยังไม่ฟันธงปมขยายสัมปทานดอนเมืองโทล์ลเวย์

“สุริยะ”พร้อมรับฟังเสียงประชาชน ยังไม่ฟันธง “ขยายสัมปทาน” ดอนเมืองโทล์ลเวย์แลกปรับขึ้นค่าผ่านทาง คาด ทล. เฟ้นแนวทางเจรจาชงคมนาคม ก.ย.นี้ ชี้ต้องพิจารณาให้ดีที่สุด ไม่เกิดข้อครหาเอื้อเอกชน รับข้อเสนอ“คูปองส่วนลด” ไว้เป็นอีกตัวเลือก 

25 ก.ค. 2567 -นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทางหลวง(ทล.) ในฐานะเจ้าของสัมปทานทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทล์ลเวย์ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารายละเอียด และแนวทางต่างๆในการเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการดอนเมืองโทล์ลเวย์ เพื่อขอให้ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง เนื่องจากการปรับขึ้นค่าผ่านทาง 5-10 บาท ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2567 จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ และเดือดร้อนมาก โดยได้เร่งรัดให้ ทล. ดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าจะได้ข้อสรุป และแนวทางในการไปเจรจากับโทล์ลเวย์ภายในเดือน ก.ย.2567 โดยขอให้เป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมที่สุด

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การที่เอกชนยินดีจะให้ความร่วมมือ แต่จะขอให้ภาครัฐพิจารณาชดเชยในลักษณะคล้ายกับการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) ที่ขยายสัญญาสัมปทานแลกกับการปรับค่าผ่านทางลงเหลือ 50 บาทตลอดสายนั้น ยังคงเป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการขยายสัมปทานให้เอกชน ซึ่งในประเด็นนี้ ทล. ได้นำไปเป็นแนวทางหนึ่งในการศึกษารายละเอียดว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ยังมีวิธีการอื่นๆ อีก โดย ทล. จะจัดทำมาในหลายทางเลือก เพื่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการต่อขยายสัมปทานโทล์ลเวย์ เพื่อแลกกับการปรับลดราคาค่าผ่านทาง โดยมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมน้อมรับฟังทุกความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งตนเน้นให้ความสำคัญ และประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก โดยจะนำเสียงสะท้อนเหล่านี้ รวมถึงข้อเสนอของที่ให้มีการจัดทำคูปอง เพื่อใช้จ่ายค่าผ่านทาง ไปพิจารณาเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเจรจากับเอกชนด้วย อย่างไรก็ตามแนวทางการเจรจาปรับลดขึ้นค่าผ่านทาง กระทรวงคมนาคมจะหารือเพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด และไม่ให้เกิดข้อครหาว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 ต้องมีการปรับขึ้นราคาค่าผ่านทางด่วนโทล์ลเวย์ตามสัญญาสัมปทานเช่นกัน แต่กระทรวงคมนาคม ได้ใช้วิธีการเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ โดยเป็นการจำหน่ายคูปอง เพื่อใช้จ่ายค่าผ่านทาง และจัดโปรโมชั่นคูปองลดค่าโทลล์เวย์ 5% ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน ซึ่งคูปอง 1 ชุดมี 20 ใบ มูลค่า 1,520 บาท สําหรับค่าผ่านทาง 80 บาท (ราคาเต็ม 1,600 บาท) และมูลค่า 665 บาทสําหรับค่าผ่านทาง 35 บาท (ราคาเต็ม 700 บาท)

อย่างไรก็ตาม สำหรับสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลเวย์ บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ ได้รับสัมปทานจาก ทล. ในปี2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุน และกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของค่าผ่านทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จากการแก้ไขสัญญาครั้งสุดท้ายจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางอีก 2 ครั้ง คือ ในเดือน ธ.ค.2567 และ ธ.ค.2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577.

เพิ่มเพื่อน