มองมุมนักวิชาการกับ 3 ปีที่สูญเสีย ภาษีบุหรี่ใหม่ เป้าหมายที่ยังไปไม่ถึง แนะแก้ใช้แบบอัตราเดียว ตามมาตรฐานโลก

ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี นับตั้งแต่กรมสรรพสามิต ได้บังคับใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่แบบ 2 อัตรา และมีการปรับขึ้นอัตราภาษีอีกครั้ง เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หรือเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ดูเหมือนว่าผลจากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนั้น จะทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกับเป้าหมายสำคัญของกรมสรรพสามิตอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น ปรากฏการณ์บุหรี่เถื่อนระบาดทั่วไทย ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ถูกกฎหมายไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เกษตรกรชาวไร่ยาสูบยังต้องทนทุกข์ มีชาวไร่จำนวนมากทิ้งอาชีพนี้ไป และสำคัญที่สุดคือการจัดเก็บรายได้รัฐที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทุกปี แทนที่จะเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 3,500 – 4,500 ล้านบาทต่อปี

ภาษีบุหรี่ มีแต่เสียกับเสีย

ตั้งแต่มีการบังคับใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตราตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ยังมองไม่เห็นถึงผลดีที่เกิดขึ้นกับฝ่ายใดเลย แต่กลับยังสร้างปัญหาใหม่กับทุกภาคส่วน ดังนี้

1. บุหรี่เถื่อนระบาดหนัก ตั้งแต่การปรับภาษีบุหรี่เป็นแบบ 2 อัตราในปี 2560 สัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมาย (บุหรี่เถื่อน และบุหรี่ปลอม) ในประเทศไทยก็กระโดดจาก 6.6% มาเป็น 25.5% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เนื่องจากภาษีที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดช่องว่างด้านราคาระหว่างบุหรี่ถูกกฎหมาย และบุหรี่เถื่อน สร้างความเสียหายต่อทั้งอุตสาหกรรมยาสูบกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

2. บุหรี่ไฟฟ้าและผู้ใช้หน้าใหม่ ขณะที่บุหรี่มวนมีราคาแพงขึ้นอย่างก้าวกระโดด บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งยังถือเป็นสินค้าผิดกฎหมายกลับได้รับความนิยมในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญก็คือบุหรี่ไฟฟ้ามีความคุ้มค้าด้านราคากว่าบุหรี่มวนถูกกฎหมาย โดยบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งมีราคาเริ่มต้นอันละ 100 กว่าบาทซึ่งมีปริมาณน้ำยาที่สูบได้เทียบเท่าบุหรี่มวนกว่า 10 ซอง ขณะที่บุหรี่ถูกกฎหมายราคาเริ่มต้นซองละ 65 บาท ถ้าจะสูบ 10 ซองต้องใช้เงินซื้อมากถึง 650 บาท จึงทำให้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะจากเด็กและเยาวชน ข้อมูลจาก​สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ปัจจุบันแนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทยเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันจากผลการสำรวจของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 พบว่า จำนวนเด็กและเยาวชนที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า เพิ่มจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6%  นอกจากนี้ แม้จะไม่เคยมีการประมาณตัวเลขมูลค่าตลาดที่แน่ชัด แต่ข้อมูลจากศุลกากรจีนเปิดเผยว่าในปีพ.ศ. 2566 มีบุหรี่ไฟฟ้าส่งออกมายังประเทศไทยมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านบาท

3. ชาวไร่ยาสูบเดือดร้อน ชาวไร่ยาสูบเปรียบได้กับต้นน้ำของอุตสาหกรรมยาสูบ ที่ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใด ก็จะเป็นพวกเขาที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นกลุ่มแรก เริ่มจากการถูกตัดโควตาการปลูกมากกว่า 50% ภายหลังการนำโครงสร้างแบบ 2 อัตรามาใช้เนื่องจากการแข่งขันในกลุ่มบุหรี่ราคาถูกอย่างรุนแรง และราคารับซื้อก็คงที่มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้ในฤดูกาลปลูก 66/67 นี้ จะมีการอนุมัติให้การยาสูบแห่งประเทศไทยเพิ่มราคารับซื้อใบยาแล้ว แต่หากอนาคตของการยาสูบฯ ยังร่อแร่ ผลกำไรไม่โตเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าการยาสูบฯ จะมีเงินมาสนับสนุนชาวไร่ยาสูบโดยไม่ลดราคาหรือตัดโควตาอีกครั้ง และสุดท้ายก็ยังเป็นเกษตรกรที่ยังต้องแบกรับความเสี่ยงต่อไป

4. รายได้ของกรมสรรพสามิตมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ช่วงก่อนบังคับใช้มาตรการในปี 2560 มี​ตัวเลขรายได้ระดับกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท แต่ภายหลังการบังคับใช้ภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตรา รายได้จากภาษียาสูบก็ลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่การบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราภาษีอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการกักตุนสินค้าและไม่ก่อให้เกิดรายได้ภาษีในระยะยาว โดยเห็นได้จากปี 2564 ที่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่อีกครั้ง ทำให้ในปีนั้นสรรพสามิตจัดเก็บภาษียาสูบได้กว่า 6.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า แต่ก็ตกฮวบมาในระดับ 5 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 และ 2566

สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน ตั้งแต่ตุลาคม 2566 – พฤษภาคม 2567 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษียาสูบได้   33,559 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 15% ทั้งที่ไม่มีการปรับขึ้นภาษีในปีงบประมาณปัจจุบันแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากโครงสร้างภาษีที่ได้นำมาใช้กว่า 2 ปีที่ผ่านมา

แนะใช้มาตรฐานโลกเก็บแบบอัตราเดียว

ตลอดระยะเวลาของการใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตรา หลายภาคส่วนต่างก็เรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงสร้างดังกล่าว ซึ่งรวมถึงสำนักงานเศรษบกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ที่ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยโครงการวิจัยศึกษาเพิ่มพัฒนาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ เสนอให้ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เป็นอัตราเดียว โดยใช้อัตราตามมูลค่าในช่วง 24.5-30.5% และควรเพิ่มภาษีตามปริมาณเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาล

โดย ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นไว้ว่า ตั้งแต่มีการบังคับใช้โครงสร้างภาษีแบบ​ 2 อัตรา ยังไม่เห็นข้อดีเลย จึงเสนอแนะให้ใช้โครงสร้างภาษีแบบอัตราเดียว เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพราะการใช้ภาษีหลายอัตรานั้นทำให้เกิดช่องว่างในระบบภาษี ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขโครงสร้างภาษีบุหรี่โดยเร็ว รวมถึงการ​กำหนดอัตราภาษีให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบันด้วย

ส่วน รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่เหมาะสม เพราะนโยบายภาษีถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ สำหรับการควบคุมปริมาณการสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาสู่การลดภาระของรัฐบาล สำหรับต้องจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกันยังถือเป็นหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้ภาครัฐปีละหลายหมื่นล้านบาทด้วย

การดำเนินนโยบายด้านภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างที่ได้สมดุลในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการควบคุมการสูบบุหรี่ การสร้างรายได้ และผลกระทบที่จะเกิดกับอุตสาหกรรม ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ​ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจเหมือนกันหมด แต่อยู่ที่การสร้างประโยชน์โดยรวมมากกว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น กรมสรรพสามิตควรรีบดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่โดยเร็วที่สุด และยึดมั่นตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังที่เคยวางไว้ว่าก่อนหน้านี้ คือ การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของโลก พร้อมกับการให้ความสำคัญในเรื่องการทำให้การสูบบุหรี่ลดลง และไม่ทำให้การลับลอบขนบุหรี่เถื่อนเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น หากกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และรัฐบาลมีความจริงใจ และให้ความสำคัญกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยการผลักดันให้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่แบบอัตราเดียวเป็นจริงโดยเร็ว เชื่อว่าสถานการณ์และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรรพสามิตแนะเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่รู้แหล่งที่มาและไม่ติดแสตมป์

กรมสรรพสามิตชี้แจงกรณีเกิดเหตุประชาชนดื่มสุรามีสารพิษทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 27 ราย หลังดื่มสุราที่ซุ้มยาดองบริเวณถนนหทัยราษฎร์ เขตคลองสามวาเขตมีนบุรี