‘BEM’ลงนามจ้าง ‘ช.การช่าง’ ลุยก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ‘พร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้า มูลค่า 1.2 แสนล้าน ปักธงเตรียมเข้าพื้นที่ส.ค.นี้ เร่งจัดหาขบวนรถไฟฟ้า 32 ขบวน มั่นใจ ฝั่งตะวันออก ’ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี’เปิดวิ่งปลายปี 70 ยันเข้าร่วมนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
23 ก.ค.2567-นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธาและจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าใครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ)ระหว่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และ บมจ. ช.การช่าง ว่าตามที่รัฐบาลมอบความไว้วางใจให้บริษัทฯ เป็นผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 1.4 แสนล้านบาทนั้น โดยในวันนี้ (23 ก.ค. 2567) บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาจ้าง ช.การช่าง ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และจัดหาพร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสำหรับทั้งโครงการฯ
“ภายหลังการลงนามในวันนี้นั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) ภายในวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค. 2567 และสามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ทันที เนื่องจาก รฟม. ได้เตรียมส่งมอบพื้นที่ไว้แล้ว จากนั้น CK จะเริ่มการออกแบบและย้ายสาธารณูปโภค โดยจะใช้ระยะเวลา 1 ปี ควบคู่กับการก่อสร้างผนังสถานี และเข้าสู่กระบวนการขุดเจาะอุโมงค์ ใช้ระยะเวลา 3 ปี ก่อนจะติดตั้งระบบ ไฟฟ้า ประปา ระบบอาณัติสัญญาณ และทดสอบระบบ ”นายสมบัติ กล่าว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี หรือแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2573 โดยโครงการดังกล่าวฯ มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการช่วงตะวันออก โดยช่วงตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. นั้น มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี 6 เดือน ซึ่ง BEM มั่นใจว่า จะสามารถเปิดให้บริการส่วนนี้ได้ภายในปลายปี 2570 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2571 ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม
“BEM มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก BEM มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง CK ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน โดย CK ได้จัดเตรียมทีมงานและเครื่องจักรอุปกรณ์พร้อมเข้าดำเนินงานได้ทันที จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินงานได้แล้วเสร็จตามกำหนดการ อย่างมีคุณภาพและให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยสูงสุด“ นายสมบัติ กล่าว
นายสมบัติ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ ถือเป็นปีที่ดีของ BEM มีกำไรเติบโตจากการบริหารโครงการสัมปทานที่มีอยู่ทั้งรถไฟฟ้าและทางพิเศษ หลังจากกำไรที่เคยลดลงไปเมื่อช่วงโควิด-19 ตอนนี้กลับคืนมาแล้ว และยังทำกำไร New High ในทุกปีๆ จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถือเป็น New S-Curve ให้กับ BEM ช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หนุนรายได้ให้กับสัมปทานตัวเดิมอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะจะส่งผู้ใช้บริการเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกนั้น จะมีผู้โดยสารประมาณ 80% เชื่อมเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทันที อีกทั้งยังทำให้เกิดการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ (Economy of Scale) และทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า ในส่วนของการจัดหาติดตั้งระบบรถไฟฟ้านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตเพื่อสั่งซื้อรถไฟฟ้าแบบล็อตใหญ่รวม 53 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าที่ใช้ในสายสีส้ม 32 ขบวน โดยจะนำมาให้บริการในฝั่งตะวันออก จำนวน 16 ขบวน และให้บริการในฝั่งตะวันตก จำนวน 16 ขบวน
นอกจากนี้ จะจัดหารถไฟฟ้าสำหรับบริการในโครงการสายสีน้ำเงินเพิ่มเติมอีก 21 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ โดยบริษัทฯ ยืนยันว่า ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยเป็นลำดับแรก เห็นได้จากในโครงการที่ผ่านมาบริษัทเลือกใช้ผู้ผลิตจากประเทศเยอรมัน และญี่ปุ่นเป็นหลัก ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะใช้ระบบรถไฟฟ้าของประเทศไหนนั้น คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้
สำหรับเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 1.4 แสนล้านบาทนั้น BEM ได้จัดเตรียมเงินกู้วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้สำหรับก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก 90,000 ล้านบาท และสำหรับงานระบบรถไฟฟ้า 30,000 ล้านบาท ควบคู่ไปกับเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และแหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่นหุ้นกู้ ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกของการให้บริการช่วงตะวันออก จะมีประมาณ 1.2 แสนคน/วัน และเมื่อเปิดตลอดเส้นทางคาดว่าจะมี 3 แสนคน/วัน
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของค่าโดยสารนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 17-62 บาท ซึ่งในระยะเวลา 10 ปีแรก จะมีโปรโมชั่นโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 17- 44 บาท และปรับขึ้นทุก 2 ปี ตามอัตราดัชนีผู้บริโภค (CPI) ก่อนที่จะกลับไปใช้อัตราค่าโดยสารตามสัญญาต่อไป ขณะที่นโยบายตั๋วร่วมนั้น BEM พร้อมที่จะให้ความร่วมมือโดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้เตรียมระบบ EMV รองรับการใช้งานไว้แล้ว ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์ BEM ก็พร้อมให้ความร่วมมือและเจรจาเหมือนกับโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปตามหลักการที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
ขณะที่ โครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และพร้อมลงทุนดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ บริษัทฯ ยืนยันว่า ยินดีหากรัฐบาลต้องการให้ปรับลดค่าผ่านทางในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท หรือ 50 บาทตลอดสาย ส่วนการขยายสัมปทานโครงการฯ จะขยายให้กี่ปีนััน ขึ้นอยู่กับรัฐบาล โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระการลงทุนของภาครัฐ จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการคัดเลือกเอกชนบริหารงานเดินรถ คาดว่า จะสรุปได้ภายในสิ้นปี 2567 เช่นกัน โดย BEM พร้อมที่จะเจรจาในทุกรูปแบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.สามารถ : เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อ