วิกฤตสภาพคล่องกองทุนฯครั้งที่ 2:ถึงเวลายอมรับราคาน้ำมันดีเซลที่35บาท/ลิตรกันได้แล้ว

ในช่วงนี้มีแต่ข่าวการปรับค่าไฟฟ้าเอฟทีขึ้นในระดับ 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาท/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 เพิ่มขึ้นจาก 4.18 บาท/หน่วย เป็น 4.65-6.01 บาท/หน่วย มีหน่วยงานภาคเอกชนออกมาคัดค้าน ขอให้ตรึงราคาไฟฟ้าไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย รวมทั้งสหภาพรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวงเองก็ออกมาคัดค้าน จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปดำเนินการแก้ไข จนคนลืมปัญหาของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งประสบวิกฤตสภาพคล่องครั้งที่ 2 จากการเข้าไปตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร และตรึงราคา LPG ไว้ที่ 423 บาท/ถัง 15 กก.

ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยับเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลใหม่ จาก 30 บาทต่อลิตร มาเป็นไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2567 กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 31 ก.ค.2567 ในจังหวะเดียวกันที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวขึ้นระยะหนึ่ง จนกองทุนต้องแบกภาระการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลจนพบกับวิกฤตรอบที่ 2 ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยกองทุน ณ วันที่ 14 ก.ค.2567 มีฐานะติดลบ 111,855 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับสถิติสูงสุดเมื่อปี 2565 ที่เคยติดลบ 123,155 ล้านบาท

สถานะกองทุนย้อนหลัง 5 ปี

ปีน้ำมันLPGรวม
2563                36,585-9,10727,478
2564                18,244-22,724-4,480
2565                -79,042-44,113-123,155
2566                -32,476-46,118-78,594
14 ก.ค. 2567    -64,252-47,603-111,855

หน่วย: ล้านบาท

ที่มา: สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)

การแก้ไขปัญหาของกองทุนในช่วงปี 2565 นั้น รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงิน โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 และทาง สกนช.ได้ดำเนินการเบิกเงินกู้ไปทั้งหมด 105,333 ล้านบาท ซึ่งในเดือน พ.ย.2567 นี้จะถึงกำหนดจ่ายคืนเงินกู้ให้กับสถาบันการเงิน

สภาพคล่องของกองทุนในเดือนกรกฎาคม 2567 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 570 ล้านบาท/เดือน แยกเป็นเงินไหลเข้าจากกลุ่มน้ำมันเบนซิน 3,746 ล้านบาท/เดือน เงินไหลเข้าจาก LPG 136 ล้านบาท/เดือน เงินไหลเข้าจากน้ำมันเตา 9 ล้านบาท/เดือน แต่มีเงินไหลออกจากการตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 33 บาท/ลิตร ในอัตราลิตรละ 1.56 บาท คิดเป็นเงินไหลออก -3,321 ล้านบาท/เดือน

แม้ว่าในเดือนกรกฎาคม 2567 มีเงินไหลเข้ากองทุนจำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวนและไม่แน่นอน และยิ่งใกล้ปลายปีซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาว แนวโน้มราคานั้นจะปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าสถานะกองทุนคงกลับมาติดลบอีกในเร็วๆ นี้ ดังนั้นการที่จะต้องใช้หนี้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งกองทุนยังติดลบอยู่จำนวนมาก คงจะเป็นโจทย์ยากสำหรับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะแก้ไขปัญหามี 3 แนวทาง แนวทางแรก คือ ให้กระทรวงการคลังปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอย่างน้อย 2-3 บาท/ลิตร แนวทางที่สอง ขออนุมัติใช้งบกลางจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้คงเป็นไปได้ยากในสภาวะที่ฐานะการคลังของประเทศไม่ค่อยดี มีเงินที่ต้องใช้จ่ายในโครงการอื่นๆ อีกมาก หนทางเดียว ที่จะทำได้คือ ปรับขึ้นเพดานน้ำมันดีเซลไปที่ 35 บาท/ลิตร ซึ่งในส่วนนี้สามารถดำเนินการได้เองโดย กบน. แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากและมีเวลาเหลือเพียงอีก 2 สัปดาห์ที่จะต้องตัดสินใจแก้ไขโดยเร็ว

หากสามารถปรับเพดานดีเซลขึ้นไปได้แล้ว กระทรวงพลังงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อชะลอการปรับอัตราค่าบริการ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมด้วยช่วยกันหามาตรการช่วยเหลือจากผลกระทบดังกล่าวต่อไป มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานแต่เพียงหน่วยงานเดียว

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อกองทุนในขณะนี้ ปัจจัยแรก คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีความไม่แน่นอน ผันผวนอย่างมาก ปัจจัยที่สอง คือ สถานะกองทุนซึ่งติดลบกว่าแสนล้านบาท และถึงเวลาที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ในเร็วๆ นี้ หนทางสุดท้าย ที่เหลือคือ “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” คือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ทาง กบน.จะต้องพิจารณาปรับเพดานดีเซลขึ้นไปที่ 35 บาท/ลิตรในเดือน ส.ค.นี้ และระยะยาวจะต้องทยอยเก็บเงินเขากองทุนเพื่อใช้หนี้ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร โดยในขณะนี้ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาสอนว่า การใช้หนี้ของกองทุนนั้น ทางกองทุนต้องช่วยตนเองเท่านั้น ยังไม่เคยมีใครเอาเงินมาช่วยใช้แทนกองทุนเลย

วีระพล จิรประดิษฐกุล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ภูมิธรรม’ ทุบฝ่ายต้านบิดเบือน MOU เกาะกูด ทำผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน เมื่อการเมืองบิดเบือน MOU เกาะกูด" ระบุว่าการจุดประเด็นทางการเมืองเรื่อง MOU 44 ในช่วงนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในหลา

'วรงค์' เหนื่อยใจกับนายกฯอิ๊งค์ พูดวกวน เหมือนดีใจที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปอ้อมเกาะกูด

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "เหนื่อยใจกับอุ๊งอิ๊ง"