'พาณิชย์' ชี้เป้าส่งออกอาหารเสริมเจาะตลาดสหรัฐฯ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าส่งออกอาหารเสริมเจาะตลาดผู้บริโภคสหรัฐฯ เน้นกลุ่มคนรักสุขภาพ และคนออกกำลังกาย เน้นสินค้าที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ขายส่วนผสมจากสมุนไพรไทย มั่นใจมีโอกาสเติบโต

23 ก.ค. 2567 – นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ และโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ตามการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และกลุ่มที่ต้องการอาหารเสริมสำหรับการออกกำลังกาย

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ ปี 2566 อยู่ที่ 36,036.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจาก 34,954.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.1 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเติบโต ได้แก่ จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภค ชาวอเมริกันที่ตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และต้องการอาหารเสริมสำหรับการออกกำลังกายมากขึ้น โดยอาหารเสริมในตลาดสหรัฐฯ แบ่งได้ตามส่วนผสมสำคัญ ได้แก่ วิตามิน สารสกัดจากธรรมชาติ แร่ธาตุ โปรตีนและกรดอะมิโน ไฟเบอร์ กรดไขมันโอเมก้า โพรไบโอติก และอื่น ๆ โดยวิตามิน เป็นอาหารเสริมที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 30.11 ของยอดขายอาหารเสริมทั้งหมด และอาหารเสริมที่อยู่ในรูปแคปซูล เป็นรูปแบบที่ผู้บริโภคนิยม คิดเป็นร้อยละ 30.3 ของยอดขายทั้งหมด โดยรูปแบบเยลลี่ เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะดู น่ากินและย่อยง่าย

สำหรับช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลักในสหรัฐฯ มาจากการจำหน่ายผ่านช่องทางจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ (Over-the-Counter: OTC) ร้อยละ 85.17 ซึ่ง OTC คือ การที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ ได้เองโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งแรงขับเคลื่อนของยอดขายที่จำหน่ายผ่าน OTC คือ ผู้บริโภคต้องการดูแลตัวเอง แต่การเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ ก็ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารเสริมได้ง่ายขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น

ส่วนสิ่งที่ควรรู้ก่อนนำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเข้ามาขายในตลาดสหรัฐฯ ทูตพาณิชย์ให้ข้อมูลว่า หากเป็นยาและผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ก่อนวางจำหน่าย แต่หากเป็นอาหารเสริม ผู้ผลิตไม่ต้องขอการรับรองจาก FDA เพื่อวางจำหน่ายในตลาด แต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีในการผลิตปัจจุบัน (GMPs) ที่ FDA กำหนด พร้อมกับมีหลักฐานว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและฉลากของผลิตภัณฑ์ไม่มีการกล่าวอ้างที่เกินจริง ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีสารตัวใหม่เป็นส่วนผสม ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลกับ FDA ก่อนการวางจำหน่าย โดย FDA มีอำนาจในการตรวจสอบ และหากพบว่า ไม่ปลอดภัย ก็มีอำนาจให้นำออกจากตลาดหรือแจ้งให้ผู้ผลิตเรียกคืนสินค้าโดยสมัครใจ และยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบกับองค์กรอิสระที่ให้บริการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท ConsumerLab.com บริษัท NSF International และบริษัท U.S. Pharmacopeia เพื่อรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีการผลิตที่เหมาะสม มีส่วนผสมตรงกับฉลาก และไม่มีสารปนเปื้อนในระดับที่อันตราย แต่การทดสอบคุณภาพดังกล่าว ไม่ได้รับประกันว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง

“การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ได้เป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของชาวอเมริกัน เพื่อช่วยเสริมสารอาหารที่ได้รับในมื้ออาหารประจำวันไม่เพียงพอ ซึ่งวัยผู้ใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวระหว่างวันน้อยและรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ประกอบกับความตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพ จึงทำให้อุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยในการเสนอผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในตลาดสหรัฐฯ ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องชื่อเสียงและความเป็นเอกลักษณ์ของสมุนไพร ซึ่งข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารเสริมจะเป็นแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการศึกษาพฤติกรรมและความชื่นชอบของผู้บริโภคชาวอเมริกัน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันให้มีประสิทธิภาพ ในการขยายตลาดสหรัฐฯ ต่อไป”นายภูสิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พาณิชย์” รับลูก นายกฯ “ดูแลประชาชน” ลุยตรวจ ”ปั๊มน้ำมัน -ขนส่ง-สนามบิน“ ย้ำ ขอให้ประชาชนมั่นใจ เดินทางราบรื่นช่วงปีใหม่

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบเข้มสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ครอบคลุมทุกการเดินทางของประชาชน ทั้งการตรวจสอบมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ได้น้ำมันเต็มลิตร-เน้นย้ำผู้ประกอบการตามสถานีขนส่งปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน-

“สุชาติ” รมช. พาณิชย์ ยืนยันไม่ได้หายไปไหน เดินหน้าผลักดันส่งออก ชี้ ต้องการทำให้ FTA มีประโยชน์สูงสุด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า “ตนได้ทำงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาได้เดินหน้าทำงานต่อเนื่อง สร้างผลงานดันเจรจา FTA

“พิชัย” คิกออฟ New Year Mega Sale 2025 ลดราคาสินค้า-บริการ 4 หมื่นรายการ สูงสุด 80% เป็นของขวัญปีใหม่

“พิชัย” คิกออฟโครงการ “พาณิชย์ลดราคา New Year Mega Sale 2025” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยทั้งประเทศ ผนึกกำลังผู้ผลิต

พาณิชย์คลอดมาตรการ ‘อนุญาตให้นำเข้า' ก่อน ‘ห้ามนำเข้า’ เศษพลาสติก

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศออกกฎกำหนดมาตรการนำเข้าเศษพลาสติก 2 ฉบับ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมและป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการดำเนินการตามนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566

'พิชัย' ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกันลงทุนไทยเพิ่ม

“พิชัย” ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกัน AMCHAM ลงทุนไทยเพิ่ม เร่งใช้แต้มต่อ FTA ไทย ผลักดัน ศก. ไทยเติบโตรวดเร็ว หลังเตรียมเยือนดาวอส ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกกับยุโรป