22 ก.ค.2567-นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte หัวข้อ “ลดค่าผ่านทาง” แลก “ขยายสัมปทาน” ใครได้ประโยชน์ ? ระบุว่า ใกล้ถึงเวลาจะขึ้นค่าผ่านทางไม่ว่าจะเป็นทางด่วนหรือดอนเมืองโทลล์เวย์คราใด ภาครัฐมักจะเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานให้ชะลอการขึ้นค่าผ่านทาง เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้บริการ แต่ครั้งนี้มาแปลกจะขอให้ลดค่าผ่านทางแลกกับขยายเวลาสัมปทานให้เอกชน การทำเช่นนี้รับรองว่าเอกชนผู้รับสัมปทานยิ้มแก้มปริแน่นอน เพราะมีแต่ได้กับได้ ส่วนผู้ใช้บริการอย่าหลงดีใจยิ้มไปกับเขาด้วย เพราะมีแต่เสียกับเสีย !
1. สัมปทานทางพิเศษ
ทั้งทางด่วน (บางสาย) และดอนเมืองโทลล์เวย์ ภาครัฐให้สัมปทานแก่เอกชนในรูปแบบ BTO (Build-Transfer-Operate) กล่าวคือเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง (B=Build) แล้วโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างให้แก่รัฐ (T=Transfer) จากนั้นรัฐมอบสิทธิ์ในการประกอบการให้เอกชนตามระยะเวลาที่ได้ตกลงกัน (O=Operate) เช่น 25 ปี หรือ 30 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหมดระยะเวลาสัมปทานรัฐได้ขยายสัมปทานให้เอกชนด้วยเหตุผลที่รัฐไม่ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน เช่นกรณีทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) เอกชนกล่าวหารัฐว่าขึ้นค่าผ่านทางต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือกรณีดอนเมืองโทลล์เวย์ เอกชนกล่าวหารัฐว่าปิดสนามบินดอนเมืองในปี 2549 แล้วย้ายไปรวมกับสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นเหตุให้ดอนเมืองโทลล์เวย์มีรถใช้บริการน้อยลง ทำให้เอกชนมีรายได้ลดลง เป็นต้น
ถึงเวลานี้ ทางด่วนศรีรัชได้รับการขยายสัมปทานไปจนถึงปี 2578 ส่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ได้รับการขยายสัมปทานไปจนถึงปี 2577 หลายคนดีใจว่าอีกไม่นานทั้งทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์จะตกเป็นของรัฐ ค่าผ่านทางก็จะถูกลง แต่อย่าหลงดีใจ เพราะมีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานให้เอกชนอีกทั้งทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์ แลกกับการลดค่าผ่านทาง พูดง่ายๆ ว่าขยายสัมปทานเพื่อลดค่าครองชีพของผู้ใช้บริการ การทำเช่นนี้หลายคนคิดว่าดี แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ดีจริง
2. ข้อดี-ข้อเสีย ของการขยายสัมปทาน
กรณีทางด่วนศรีรัช มีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานให้เอกชน 22 ปี 5 เดือน เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท และให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) ช่วงดังกล่าวด้วย
ส่วนกรณีดอนเมืองโทลล์เวย์ รัฐกำลังศึกษาว่าจะขยายสัมปทานให้เอกชนกี่ปี เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางลงเหลือในอัตราที่เหมาะสม รวมทั้งให้เอกชนลงทุนขยายเส้นทางจากรังสิตไปจนถึงบางปะอิน
ข้อดีของการขยายสัมปทานเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการ แต่ค่าผ่านทางที่ลดลงจะน้อยกว่าค่าผ่านทางที่รัฐจะลดลงในกรณีไม่ขยายสัมปทาน เนื่องจากสิทธิ์ในการประกอบการเป็นของรัฐ 100% ข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือเป็นการลดการลงทุนโดยภาครัฐ (หากมีการก่อสร้างทางด่วน Double Deck และ/หรือส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์)
ข้อเสียของการขยายสัมปทานก็คือ จะทำให้เอกชนมีสิทธิ์ในการประกอบการทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์ต่อไป โดยไม่ต้องโอนสิทธิ์การประกอบการมาเป็นของรัฐ ส่งผลให้รัฐไม่สามารถกำหนดอัตราค่าผ่านทางได้อย่างอิสระ เพราะจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อรายได้ของเอกชนด้วย เป็นเหตุให้ไม่สามารถลดค่าผ่านทางทั้งโครงข่าย (ในกรณีทางด่วนไม่ใช่เฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เท่านั้น) ให้ถูกลงได้ ผู้ใช้บริการก็จะต้องจ่ายค่าผ่านทางแพงอีกต่อไป
3. ใครได้ประโยชน์จากการขยายสัมปทาน ?
แน่นอนว่าเอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องได้ประโยชน์ มิฉะนั้น เขาจะไม่เรียกร้องให้ขยายสัมปทาน ประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับก็คือหุ้นจะขึ้น และจะได้เก็บกำไรตลอดระยะเวลาสัมปทานที่ได้รับการขยาย
ส่วนผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากการจ่ายค่าผ่านทางถูกลง แต่จะถูกลงน้อยกว่าหากรัฐได้เป็นผู้เก็บค่าผ่านทางเอง โดยไม่ขยายสัมปทานให้เอกชน ที่สำคัญ สังคมอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าผู้อนุมัติให้ขยายสัมปทานจะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ ? ประเด็นนี้ต้องคิดกันเอาเอง ผมไม่อาจทราบได้
4. ข้อเสนอแนะ
เป็นที่น่าสังเกตว่าการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการคมนาคมขนส่งในบ้านเรา มักจะมีการขยายสัมปทานให้เอกชนอย่างหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ เป็นความบกพร่องจากการบริหารสัญญาสัมปทาน ทำให้รัฐและผู้ใช้บริการไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ ด้วยเหตุนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม ผมขอเสนอแนะให้หยุดขยายสัมปทานให้เอกชน ซึ่งจะทำให้รัฐมีอำนาจการบริหารทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สามารถลดค่าผ่านทางให้ถูกอย่างยั่งยืนได้ ทั้งนี้ หากจำเป็นจะต้องก่อสร้าง Double Deck ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 และ/หรือต่อขยายเส้นทางดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน รัฐก็ควรลงทุนก่อสร้างเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สังเวยอีก 6 ชีวิต ‘เครน’ ก่อสร้าง พระราม 2 ถล่ม
อีกแล้ว! คานปูนและเครนก่อสร้างถนนยกระดับถล่มบนถนนพระราม 2 บริเวณแยกต่างระดับเอกชัย คนงานดับแล้ว 6 เจ็บจำนวนมาก "สุริยะ" จ่อ
'ดร.สามารถ' ถามจี้ 'สุริยะ' มาตรการสมุดพก คาดโทษผู้รับเหมา ใช้ได้ผลหรือไม่
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ซ้ำซาก ! อุบัติเหตุก่อสร้างบนถนนพระราม 2
ดร.สามารถ ชี้ไม่ต้องขยายสัมปทาน ค่าทางด่วนก็ถูกลงได้!
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโพสต์้ฟซบุ๊กเรื่อง ไม่ต้องขยายสัมปทาน “ค่าทางด่วนก็ถูกลงไ
เครนถล่ม! ทางยกระดับพระราม 2 ดับแล้ว 3 ราย เจ็บนับสิบ สูญหายอีก
เมื่อเวลา 04.35 น. ได้รับแจ้งว่า เกิดอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 21 มหาชัยเมืองใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร
'สามารถ' เตือน กทพ. ไม่ควรขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช !
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, โดยระบุว่า