พาณิชย์ แจงกรณี 'ศรีสุวรรณ' ร้องศาลปกครอง ยืนยัน! มีมาตรการปกป้องผู้บริโภค

กรมการค้าภายในชี้แจงการกำกับดูแลราคาสินค้า หลังถูก “ศรีสุวรรณ” ยื่นศาลปกครองขอให้ควบคุมสินค้าทุกประเภท ยันมีมาตรการเข้มดูแลสินค้า เพื่อปกป้องผู้บริโภค เผยการกำกับดูแล จะเน้นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ปัจจุบันมีสินค้าและบริการควบคุม 57 รายการ ที่ต้องดูแลใกล้ชิด ส่วนสินค้าอื่น ๆ ก็ติดตามเช่นเดียวกัน แต่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน หากพบปัญหา จะเข้าจัดการทันที ล่าสุด ทั้งหมู ไก่ ผัก ราคาทรงตัวและลดลง

19 ก.ค. 2567 – นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นฟ้อง รมว.พาณิชย์ คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ต่อศาลปกครอง เพื่อสั่งการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ถูกฟ้องคดี เร่งควบคุมสินค้าทุกประเภทให้ราคาถูกลง ว่า กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ในการกำกับดูแลราคาสินค้า ที่จำเป็นต่อการครองชีพ และที่ผ่านมา ได้ดำเนินมาตรการดูแลตามความเหมาะสม และตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากจนเกินไป และผู้ประกอบการต้องอยู่ได้จากภาวะที่ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าและบริการควบคุม ที่มีอยู่จำนวน 57 รายการ กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการครองชีพ ประกอบด้วย 11 หมวด ได้แก่ 1.กระดาษและผลิตภัณฑ์ 2.บริภัณฑ์ขนส่ง 3.ปัจจัยทางการเกษตร 4.ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 5.ยารักษาโลกและเวชภัณฑ์ 6.วัสดุก่อสร้าง 7.สินค้าเกษตรสำคัญ 8.สินค้าอุปโภคบริโภค 9.อาหาร 10.อื่น ๆ 11.บริการ และที่ผ่านมา ได้มีมาตรการบริหารจัดการตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ รวมทั้งยังมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง 

ส่วนสินค้ารายการอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในบัญชีควบคุม เป็นสินค้าที่มีการแข่งขันตามกลไกตลาด มีทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศ และสินค้านำเข้า ซึ่งกรมได้มีการติดตามเช่นเดียวกัน และมีการดูแลอยู่ตลอด หากเห็นว่า มีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งในเรื่องสินค้าขาดแคลน หรือการปรับขึ้นราคาเกินสมควร ก็สามารถที่จะนำเป็นสินค้าควบคุมและมีมาตรการกำกับดูแลได้ และที่ผ่านมา ก็มีการดำเนินการเช่นนี้ หรือบางสินค้า เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องควบคุม ก็ปลดออกก็มี

สำหรับสินค้าปศุสัตว์ และผักสด กรมมีการติดตามสถานการณ์ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ หากมีปัญหาด้านราคาปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเข้าไปกำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมา ได้ดูแลทั้งเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ รวมถึงผักบางชนิด เช่น พริกขี้หนูจินดา มะนาว ในช่วงที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น ช่วงภัยแล้ง ช่วงหน้าร้อน และได้บริหารจัดการจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หมูเนื้อแดง ราคาเฉลี่ย 132.63 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เนื้อไก่ปรับลดลง โดยไก่น่อง-สะโพก 81.81 บาท/กก. ไก่เนื้อน่อง 84.50 บาท/กก. ไก่เนื้อสะโพก 86.44 บาท/กก. ไก่เนื้ออก 85.56 บาท/กก. ปลานิล 72.50 บาท/กก. ปลาทับทิม 105 บาท/กก. ปลาดุก 75.80 บาท/กก. กุ้งขาว 70 ตัว 186 บาท/กก. และไข่ไก่ เบอร์ 3 เฉลี่ย 4.28 บาท/ฟอง

ทางด้านราคาผักสด ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง อาทิ ผักคะน้า 31.40 บาท/กก. ถั่วฝักยาว 44.70 บาท/กก. กะหล่ำปลี 34 บาท/กก. กวางตุ้ง 28.50 บาท/กก. ผักกาดขาว 33.10 บาท/กก. ผักบุ้งจีน 28.70 บาท/กก. ต้นหอม 95 บาท/กก. พริกขี้หนูจินดา 71.60 บาท/กก. และมะนาว เบอร์ 1-2 ราคา 3.10 บาท/ผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรีสุวรรณ ได้ยื่นศาลปกครอง ขอให้ดำเนินการกับ รมว.พาณิชย์ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตาม ม.9 (1) และ (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เพราะได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าราคาสินค้าหลายชนิดปรับขึ้นราคา และมีการควบคุมสินค้าเพียง 57 รายการ ยังมีสินค้าที่เหลืออีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ได้ควบคุม จึงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเกรงใจผู้ประกอบการหรืออย่างไร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลยันผู้ปลูกมันสำปะหลังไม่ถูกกดราคาแน่

รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นผู้ปลูกมันสำปะหลัง เตือนพ่อค้ากดราคา โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จัดสายตรวจเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายมันฯ ในแหล่งเพาะปลูกทั่วประเทศ รับฤดูเก็บเกี่ยวที่จะเริ่ม ธ.ค.นี้