ชาวมีนบุรีเฮ 'สุริยะ' เร่งเปิดสายสีส้มฝั่งตะวันออกต้นปี 71 คาดผู้โดยสาร 1.5 แสนคนต่อวัน

สุริยะ’ประกาศเครื่องเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ’ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี‘ต้นปี71 ยันเข้ารวมค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ปักธงเปิดให้บริการตลอดเส้นทางปี73 คาดใช้บริการวันละ 4 แสนคน สั่งเร่งงานก่อสร้างส่วนตะวันตก ‘บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ’

18 ก.ค.2567-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ในวันที่ 18 ก.ค.2567 ว่า พิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ในนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันเดินหน้างานก่อสร้างโครงการฯ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ซึ่งมีแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินทั้งหมดและลอดผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง จึงได้เน้นย้ำให้ รฟม. ดำเนินการส่งมอบเข้าพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนงานและตามระเบียบกฎหมาย กำกับควบคุมงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นโบราณสถาน ชุมชน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ได้ให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการในเดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งบรรเทาปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนช่วยขยายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล และตนยืนยันว่าจะดำเนินการให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสายด้วย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ในปีแรกของการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกในปี 2571 นั้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และจะมีผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกประมาณ 400,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน

นายสุริยะ ยืนยันว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะทำให้เกิดการจ้างคนงานไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน มีการลงทุนซื้อวัสดุในการก่อสร้าง เป็นเงินมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท ตามนโยบาย​รัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการลงทุนในประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ​ และคาดว่า การลงทุนกว่าแสนล้าน ช่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีขยายตัว0.1%

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า BEMมีความพร้อมในการดำเนินการหลังจากลงนามสัญญาทันที โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกฯ นั้นคาดว่าจะสามารถเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและจัดขบวนรถมาให้บริการได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่รัฐกำหนดไว้และในส่วนตะวันตกฯ BEM มีจุดแข็งคือพันธมิตรอย่างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่มีประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญในงานโยธาและการจัดหาระบบไฟฟ้ามีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จึงมั่นใจว่าการก่อสร้างจะไม่มีปัญหาอุปสรรค และจะเปิดให้บริการได้ภายใน 6 ปี

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง