“กยศ.” กางยอดผู้กู้ได้ประโยชน์หลังปรับสูตรคำนวณหนี้ใหม่ 2.98 ล้านราย ยอดหนี้ลดลง 56,326 ล้านบาท แนะตรวจสอบยอดหนี้ได้ที่หน้าเว็บไซต์ ตั้งแต่ 1 ส.ค. 67 เป็นต้นไป โอดอัตราการชำระหนี้วูบ 8% คาดลูกหนี้หันจ่ายหนี้ที่อัตราชำระสูงกว่าก่อน เชื่อเป็นแค่ชั่วคราว
18 ก.ค. 2567 – นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการคำนวณยอดหนี้ใหม่ ว่า ขณะนี้ กยศ. ได้มีการคำนวณยอดหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 3.65 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 314,000 ล้านบาทเสร็จแล้ว มีผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์หลังจากคำนวณยอดหนี้ใหม่กว่า 2.98 ล้านราย ภาระหนี้ลดลง 56,326 ล้านบาท โดยผู้กู้ยืมส่วนใหญ่มียอดหนี้ลดลง บางรายสามารถปิดบัญชีได้ และบางรายได้รับเงินคืน โดยผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่คำนวณใหม่ได้ที่หน้าเว็บไซต์ กยศ. ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568 กยศ. ได้ขอจัดสรรงบประมาณจำนวน 19,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการปล่อยกู้นักเรียนนักศึกษา แต่คาดว่าจะได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ ราว 8,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเพียงพอรองรับการดำเนินการ แต่ก็ยอมรับว่าตัวเลขงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจะต่ำกว่านี้ไม่ได้แล้ว โดยกองทุนฯ ได้เตรียมวงเงินไว้สำหรับรองรับการปล่อยกู้นักเรียนนักศึกษาราว 4.8 หมื่นล้านบาท
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า ผู้กู้ยืมที่ได้รับประโยชน์จากการคำนวณยอดหนี้ใหม่จำนวนกว่า 2.98 ล้านราย ยอดหนี้ลดลง 56,326 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ยืมมียอดหนี้ที่ต้องชำระลดลง 2.8 ล้านราย, ผู้กู้ยืมที่มียอดชำระหนี้ครบถ้วนและสามารถปิดบัญชีได้ 177,936 ราย, มีผู้จะได้รับเงินคืน 177,917 ราย เป็นเงิน 2,104 ล้านบาท และสามารถหยุดหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง จำนวน 18,326 ราย
“การคำนวณยอดหนี้ใหม่ข้างต้นเป็นการคำนวณหนี้โดยไม่ใช้ระบบ กยศ. Connect ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 โดยได้นำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายที่ได้ชำระเงินคืนกองทุนฯ นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณหนี้ใหม่ตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี และคิดเบี้ยปรับในอัตรา 0.5% ต่อปี โดยผู้กู้ยืมสามารถเข้าระบบตรวจสอบภาระหนี้ที่คำนวณใหม่ได้ที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2567 เป็นต้นไปโดยหากผู้กู้ยืมประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. จะใช้ยอดหนี้ที่ได้คำนวณใหม่นี้ในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปลดภาระผู้ค้ำประกันให้พ้นจากความรับผิด และเมื่อระบบ กยศ. Connect ปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้วยอดหนี้ทั้งหมดจะถูกปรับโดยอัตโนมัติและจะแสดงในแอปพลิเคชัน กยศ.Connect ต่อไป” นายชัยณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าอัตราการชำระหนี้ในปัจจุบัน ลดลงราว 8% ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของ กยศ. ที่ลดลง ทำให้ลูกหนี้อาจจะไปชำระหนี้ในส่วนอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าก่อน แต่เชื่อว่าภาวะดังกล่าวจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ท้ายที่สุดอัตราการชำระจะกลับมาเป็นปกติ ขณะเดียวกันปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ราว 2.1 ล้านราย หรือ 3.9% วงเงิน 96,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 6 ล้านกว่ารายที่เริ่มดำเนินการ
สำหรับสิ่งที่ กยศ. ได้ดำเนินการมาแล้ว ได้แก่ การชะลอฟ้องคดี 262,954 ราย เป็นเงิน 26,158 ล้านบาท, งดการบังคับคดี 160,486 ราย เป็นเงิน 14,462 ล้านบาท, ขอขยายระยะเวลาบังคับคดี 175,915 ราย เป็นเงิน 23,557 ล้านบาท, ของดการขายทอดตลาด 178,263 ราย เป็นเงิน 41,590 ล้านบาท และมีหนังสือถึงสำนักงานทนายความทุกแห่งให้งดการบังคับคดี 391 แห่ง ขณะเดียวกันมีผู้กู้ยืมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 86,962 ราย