'เอดีบี' ยืนคาดการณ์จีดีพีไทยที่2.6% อานิสงส์ท่องเที่ยว-บริโภคฟื้นช่วยหนุน

“เอดีบี” ยืนคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 ที่ 2.6% ชี้ท่องเที่ยว-การบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่องช่วยสนันสนุนเต็มสูง ห่วงความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำ หลังเศรษฐกิจชะลอตัว ชี้ลงทุนรัฐยังอืด หลังเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ลุ้นเศรษฐกิจปีหน้าทยอยฟื้นตัวได้ในอัตรา 3%

17 ก.ค. 2567 – นายอัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ 2.6% โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคยังคงเติบโตได้จากการใช้จ่ายในภาคบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในอัตรา 3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7% และปี 6825 ที่ 1.3%

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อาจลดต่ำลงเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในภาคบริการคาดว่าจะขยายตัวได้ตามการซื้อขายและบริการภายในประเทศที่เข้มแข็ง ในขณะที่การลงทุนภาครัฐยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่ล่าช้า

ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 5% จากเดิมที่ 4.9% เนื่องจากการส่งออกในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้น ช่วยเสริมอุปสงค์ภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ส่วนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% ด้านอัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.9% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาอาหารโลกที่ผ่อนคลายลง รวมถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวสูงขึ้นและยังช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอีกด้วย ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้สำหรับงานเทคโนโลยีขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ ช่วยส่งเสริมการส่งออกให้กับหลายประเทศในเอเชียอย่างต่อเนื่อง

ด้านเงินเฟ้อทั้งภูมิแม้จะชะลอตัวลงสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด แต่แรงกดดันด้านราคายังคงเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารยังคงสูงในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและข้อจำกัดในการส่งออกอาหารในบางประเทศ

“พื้นฐานของภูมิภาคยังคงแข็งแกร่ง แต่ผู้กำหนดนโยบายยังต้องให้ความสนใจกับความเสี่ยงหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโต ตั้งแต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ไปจนถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์” นายอัลเบิร์ต กล่าว

เพิ่มเพื่อน