“คลัง” โต้ “แบงก์ชาติ” ปมห่วงระบบ-แอปพลิเคชันโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ยืนยันเน้นความปลอดภัยและรัดกุม ระบุแจ้งก่อนใช้15วันอยู่ในแผนอยู่แล้ว ฟุ้งระบบลงทะเบียนพร้อมแล้ว ยืนยันดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ
16 ก.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการจัดทำระบบและแอปพลิเคชันเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ว่า ยอมรับว่า ธปท. ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องตัวระบบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะในมิติของความปลอดภัย ความเสถียร ความรัดกุม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติ
ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยและความรัดกุมเกี่ยวกับตัวระบบของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียน ระบบการยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์ ซึ่งจะต้องปลอดภัยมากที่สุด รวมทั้งตามแผนงานที่รัฐบาลกำหนดไว้ ก่อนใช้งานจริงจะต้องมีการตรวจสอบระบบให้รอบคอบ และแจ้งให้ ธปท.รับทราบก่อน 15 วันอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวล
ส่วนกรณีที่แสดงความเป็นห่วงว่าแม้จะมีการลดกรอบวงเงินโครงการเหลือ 4.5 แสนล้านบาท จาก 5 แสนล้านบาท ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่นั้น รมช.การคลัง ระบุว่า ความเห็นในส่วนนี้ของ ธปท. ยังคล้าย ๆ ความเห็นเดิมซึ่งเป็นจุดยืนเดิมของ ธปท. ที่มองว่าควรจะใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 16 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลก็ยังคงยืนยันตามเดิมว่า ในส่วนนี้ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของโครงการ ที่ต้องการทำเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการผลิตด้วย ไม่ใช่แค่กระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“เรื่องกรอบงบประมาณโครงการอาจจะมองกันคนละวัตถุประสงค์ ก็ไม่เป็นไร ตรงนั้นก็เป็นความเห็นของ ธปท. ซึ่งก็มีมาตั้งแต่แรก ๆ อยู่แล้ว และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ชี้แจงไปหลายครั้งแล้วด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลยังยืนยันตามเดิมว่า วัตถุประสงค์การดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนี้คนละแบบ เรามองว่านี่ไม่ใช่โครงการเพื่อเยียวยาคนเดือดร้อน แต่เป็นโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเห็นชัดเจจว่าเป็นคนละคำกัน” นายเผ่าภูมิ ระบุ
นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ หลัก ๆ จะมาจากงบประมาณปี 2567 วงเงิน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และที่เหลืออีก 4.3 หมื่นล้านบาท จะมาจากการบริหารจัดการตามวิธีการงบประมาณ และอีกส่วนคืองบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบรายจ่ายปี 2568 จำนวน 1.52 แสนล้านบาท และอีกส่วนมาจากการบริหารจัดการงบประมาณ 1.32 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ขอยืนยันว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน โดยได้มีการวางเป็นออฟชั่นไว้หมดแล้ว มีกระบวนการงบประมาณที่มีหลายช่องทางที่สามารถบริหารจัดการได้
“ตามแผนงานคืองบประมาณงบปี 27 ที่ 1.22 แสนล้านบาท และงบปี 68 ที่ 1.52 แสนล้านบาท เราวางไว้เป็นปลายปี คือเป็นเงินที่มีแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนงบประมาณในก้อนที่ต้องมีการนบริหารทั้งของปี 67 และ 68 จะเป็นปลายเปิด โดยจะต้องรอดูการลงทะเบียนและการยืนยันรับสิทธิ์ของประชาชนว่าเป็นเท่าไหร่ เช่น หากลงทะเบียน 42 ล้านคน น้อยกว่าเป้าหมาย การบริหารจัดการงบประมาณก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือหากยอดลงทะเบียนเป็น 48 ล้านคน การบริหารจัดการก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ทำให้เราวางบส่วนดังกล่าวเป็นปลายเปิด เพราะว่ายอดลงทะเบียนตริงเรายังไม่รู้ แต่เป้าหมายโครงการยังเป็น 50.6 ล้านคนเช่นเดิม และเมื่อมีข้อทักท้วงจาก ป.ป.ช. ว่าควรจะตั้งงบประมาณให้เพียงพอ ไม่เว่อเกินไป เพราะจะทำให้เสียโอกาสประเทศ เราก็รับฟังและสั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูว่าโครงการรัฐที่ผ่าน ๆ มาลงทะเบีนเท่าไหร่ ตัวเลขที่ออกมาคือ 85-90% มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนจะเข้าร่วม 100% เต็ม” นายเผ่าภูมิ กล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทะเบียนจะดำเนินการพร้อมกันทั้งหมด ไม่มีเปิดลงทะเบียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อนอย่างแน่นอน ส่วนระบบการลงทะเบียนเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว และมั่นใจว่าระบบมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการลงทะเบียนของประชาชนได้อย่างแน่นอน ส่วนรายละเอียดอยากให้รอนายกรัฐมนตรีประกาศความชัดเจนอีกทีในวันที่ 24 ก.ค. 2567 ซึ่งจะมีรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมด้วย
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดของหนังสือที่ ธปท. ระบุว่า ขอนำส่งข้อคิดเห็นต่อประธานกรรมการฯ นโยบาย เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามความคืบหน้าของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ประกอบด้วย
ประเด็นแรก คือ เกี่ยวกับระบบเติมเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ตามที่ครม.ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกรทะรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบนั้น ระบบเติมเงิน ถือเป็นระบบการชำระเงินที่พัฒนาและดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้รับการยกเว้นจากการขออนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. ตามพ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 โดยระบบเติมเงิน จะต้องรองรับการใข้งานของประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และมีลักษณะเป็นระบบปิด ที่ต้องเชื่อมโยงกับธนาคาร
ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบเติมเงิน จะสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรติดตามการพัฒนาระบบเติมเงินและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งด้านความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และมีเสถียรภาพใช้งานได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ควรมีการพิจารณาตรวจสอบก่อนเริ่มใช้งานในส่วนของระบบเติมเงิน 1.ระบบลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบการและการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ต้องได้มาตรฐานเทียบกับการบริการในภาคการเงิน ป้องกันความเสี่ยงของการถูกสวมรอย
2.มีศักยภาพตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติรายการชำระเงิน บันทึกบัญชี และอัพเดทยอดเงินเมื่อมีการใช้จ่ายหรือถอนเงินออกได้ โดยต้องรอบรับการตรวจสอบหากเกิดปัญหาชำระเงินไม่สำเร็จ มีการทดสอบระบบก่อนใช้จริง ควรมี Call Center หรือช่องทางการรับแจ้งปัญหา
3.การดำเนินการในลักษณพเป็นระบบเปิด ที่เชื่อมต่อกับภาคธนาคารและ non-bank หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำและนำส่งพิมพ์เขียวที่แสดง system architecture ของ payment platform ให้ธนาคารและ non-bank โดยเร็วที่สุด สำหรับเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและทดสอบำการเชื่อมต่อระบบ การพัฒนา Open loop ต้องให้เวลาเพียงพอแก่ธนาคารในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงและมีแนวทางปิดความเสี่ยง ช่องโหว่ และทดสอบการเจาะระบบ
ทั้งนี้ ให้แจ้ง ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มให้บริการเนื่องจากการเชื่อมต่อ payment platform กับ mobile application เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านระบบ IT อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง โดยธปท.จะสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่างๆ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม
ประเด็นที่สอง คือ ด้านอื่นๆ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงกลการกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่างๆให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรการในการติดตามการดำเนินโครงการต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันปัญหาต่างๆ เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขของโครงการ และการขายลดสิทธิ์ ระหว่างประชาชนและร้านค้า
ส่วนกรณีที่ได้รับทราบจากการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 จำนวน 122,000 ล้านบาท หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำและชี้แจงแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้เงินระหว่างปีงบประมาณนั้น โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้