พาณิชย์ลุยยกระดับปั้นแบรนด์ผู้ประกอบการชุมชน

กรมพัฒนาธุรกิจฯ เปิดแผนพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน SMART Local 100 ราย แบบครบวงจรปั้นแบรนด์ดัง แผนการตลาดเด่น ดันธุรกิจดี

16 ก.ค. 2567 – นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผ่านกลไกการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนของไทย เน้นการมีส่วนร่วม การเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างความยั่งยืนให้ท้องถิ่น โดยหวังผลให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง เป็นชุมชนต้นแบบที่พร้อมเป็นหน่วยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการขับเคลื่อนการตลาดให้ผู้ประกอบการชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มโอกาส/เพิ่มมูลค่าทางการค้า ยกระดับ และขยายช่องทางการตลาด รวมทั้ง เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการชุมชนสามารถปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ภายใต้แนวคิด SMART Local ที่ส่งเสริมอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีจุดเด่นและสร้างความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร ช่วยเสริมจุดแข็งกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้า เกิดการซื้อซ้ำจนกลายเป็นลูกค้าประจำที่พร้อมบอกต่อคนรอบข้างให้ซื้อสินค้า ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และขยายตลาดได้กว้างขวางมากขึ้น

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า กรมฯ ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของผลิตภัณฑ์ชุมชน และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง แบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย

SMART Local ME-D ผู้ประกอบการชุมชนมีดี ด้วยการปรับแนวคิด สร้างมุมมองการดำเนินธุรกิจที่ดี พร้อมการพัฒนาศักยภาพและทักษะผู้ประกอบการเชิงลึก 4 ด้าน ให้สามารถดำเนินธุรกิจดี อย่างมีกลยุทธ์ คือ 1.1) การสร้างแบรนด์ (Branding) ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ สร้างการรับรู้ และสร้างการจดจำ 1.2) เรื่องเล่าผลิตภัณฑ์ (Story Telling) ที่นำเสนอความเป็นไปเป็นมา ความแตกต่าง และเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค้าที่ได้อ่านหรือพบเห็นเรื่องราวสนใจซื้อสินค้า 1.3) การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ (Display) ซึ่งการจัด Display ให้ดึงดูดใจลูกค้า จะเป็นช่องทางในการส่งเสริมประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักและจดจำ โดยใช้พื้นที่การจัดวางสินค้าที่มีจำนวนจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความสะดวกสบายในการเลือกชมเลือกซื้อสินค้า ซึ่งการจัด Display ที่ดีจะทำให้ลูกค้าพร้อมตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และ 1.4) การนำเสนอผลิตภัณฑ์/การเจรจาธุรกิจ (Pitching and Negotiation) โดยเป็นกิจกรรมสอนเทคนิคการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้โดนใจลูกค้าและคู่ค้า และสอนเทคนิคต่างๆ สำหรับการเจรจาธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนได้เรียนรู้และเข้าใจเทคนิคการเจรจาธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ

1.SMART Local Matching-D ขยายช่องทางการตลาด ผ่านกิจกรรมทดสอบตลาด (Mini Event) และการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการชุมชนกับเทรดเดอร์/บายเออร์รายใหญ่ของประเทศ เช่น กลุ่มผู้จัดจำหน่าย กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ศูนย์การค้าฯ เป็นต้น ขณะเดียวกัน จะสอนเทคนิคการขายและนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และการใช้อี-มาร์เก็ตเพลสขยายตลาดด้วย

2.SMART Local Pro-D สร้างต้นแบบเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนโปรดี 3 เส้นทาง ครอบคลุม 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ และ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ อาหารและเครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย และสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อชูจุดเด่นอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภคและสร้างภาพจำที่แตกต่าง

3.SMART Local DO-D ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ Soft Power ผลิตภัณฑ์ชุมชน ในรูปแบบต่างๆ เช่น คลิปสั้น ภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์ (Infographic) การนำเสนอสินค้าโดยอินฟลูเอนเซอร์ และการร้อยเรียงเรื่องราวผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชนในภาพรวม โดยเน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย น่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจส่งผลให้เกิดการซื้อสินค้า โดยจะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และช่องทางการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน่วยงานพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง

กรมฯ ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนตลอดโครงการจำนวน 100 ราย ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถนำองค์ความรู้และทักษะ ซึ่งเป็น Soft Skill ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ ช่วยสร้างยอดขายและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นตามมา ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากได้ไม่ต่ำกว่า 48 ล้านบาท และกรมฯ พร้อมปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวโน้มการประกอบธุรกิจโลกที่มีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนของไทยสามารถรับมือกับการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยความมั่นใจ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยที่ดียิ่งขึ้น” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้ง“จ.อ.ยศสิงห์”เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.สุชาติ ช่วยดูแลปากท้องประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ/เห็นชอบแต่งตั้ง ข้าราชการและข้าราชการการเมืองหลายตำแหน่ง หลายกระทรวงนั้น

พาณิชย์ ยอมรับภาพรวมค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ปรับเพิ่มสูงขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 หลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 และปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566

“สุชาติ” ชี้ช่องทางตลาดในและต่างประเทศแก่ผู้ประกอบการถุง พลาสติกสาน สยามแฟล็กซ์แพ็ค จำกัด โอกาสโตยังเปิดกว้าง!

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หารือกับผู้บริหาร บริษัท สยามเฟล็กซ์แพ็ค จำกัด ผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าถุงกระสอบพลาสติก สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA

‘สุชาติ’ แนะเกษตรกร/ผู้ประกอบการโคนม นำนวัตกรรม และดูแลสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่า พร้อมศึกษาประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออก

รมช.พณ. สุชาติฯ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการนมโคแปรรูป ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรและผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออก และเตรียมความพร้อมกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่การเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์ ภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568