กนง.เคาะลดจำนวนประชุมนโยบายการเงินเหลือ6ครั้ง/ปี

“กนง.” มีมติลดจำนวนประชุมนโยบายการเงิน เหลือปีละ 6 ครั้ง จากเดิม 8 ครั้ง ระบุข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากในช่วงสั้น พร้อมช่วยลดภาระการคาดเดาของตลาดการเงิน

11 ม.ค. 2565 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดจำนวนการประชุมกำหนดนโยบายการเงินเหลือปีละ 6 ครั้งต่อปี (ทุก 7-10 สัปดาห์) จากเดิม 8 ครั้งต่อปี (ทุก 6-8 สัปดาห์) โดยยังคงการเผยแพร่รายงานนโยบายการเงิน 4 ครั้งต่อปี เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากในช่วงสั้น ๆ หากมีข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การวิเคราะห์มีคุณภาพมากขึ้น และช่วยให้สามารถมองข้ามความผันผวนที่มาจากข้อมูลระยะสั้นได้

นอกจากนี้ การประชุมบ่อยครั้งอาจกระทบการคาดการณ์ของตลาดการเงินโดยไม่จำเป็น ดังนั้นความถี่ของการประชุมที่ลดลงจะช่วยให้ตลาดการเงินสามารถคาดการณ์ทิศทางนโยบายได้ชัดเจนขึ้น และเป็นการสะท้อนถึงขีดจำกัดของนโยบายที่ไม่อาจปรับแต่งภาวะเศรษฐกิจได้อย่างละเอียดใกล้ชิด (limited ability to fine-tune) รวมถึงเป็นการบริหารเวลาและทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นไปที่การวิเคราะห์เชิงลึก (in-depth analysis) เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบาย

“ธนาคารกลางต่างประเทศมีทิศทางการปรับลดจำนวนครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจมีพลวัตรที่เคลื่อนช้า ๆ ขณะที่การประเมินต้องมองระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อกำหนดแนวนโยบาย ดังนั้นที่ประชุม กนง. จึงมีมติลดจำนวนการประชุมลง แต่หากมีเหตุจำเป็นจริง ๆ สามารถนัดประชุมพิเศษได้ ซึ่งการลดจำนวนครั้งในการประชุมลงนั้น ก็คิดว่าพอเพียง และเป็นความยืดหยุ่น” นายปิติ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมาคมเศรษฐศาสตร์ฯ' ล่าชื่อ ออกแถลงการณ์ 'ความขัดแย้งระหว่าง ธปท.กับ ฝ่ายการเมือง'

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ในฐานะ นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และ นายวิศาล บุปผเวส เลขาธิการสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมรายชื่อเตรียมออกแถลงการณ์เรื่อง ความขัดแย้งระหว่าง ธปท.กับ ฝ่ายการเมือง มีใจความว่า

'สมาคมธนาคารไทย' ลดดอกเบี้ยตอกย้ำความขัดแย้งนายกฯกับผู้ว่าฯธปท.

'อดีตรมว.คลัง' ชี้สมาคมธนาคารไทยลดดอกเบี้ย ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าฯแบงค์ชาติ กลยุทธ์ที่นายกฯ งัดมาใช้นั้นไม่สำเร็จ ไม่มีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนเพราะเป็นเพียงระยะสั้น