'หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ' ตัวการร้ายทำเส้นเลือดหัวใจตีบ เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน

“หินปูนเกาะเส้นเลือดหัวใจ” ตัวการร้ายเพิ่มความเสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันอันตรายถึงชีวิต พร้อมเผยข้อมูลพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 70,000 คน/ปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน เตือนคนไทยหมั่นเช็คอัพร่างกายตรวจ “Calcium score” หยุดความเสี่ยงโรค “เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน” และ “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง” เพื่อหัวใจที่แข็งแรงและชีวิตที่ยืนยาว

15 ก.ค. 2567 – นพ.เจษฎา ลักขณาวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า “หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ” คือ ภาวะที่หลอดเลือดหัวใจมีการสะสมของตะกอนไขมัน คล้ายกับสิวที่เกิดอยู่บนผนังเส้นเลือดหัวใจ โดยจะค่อย ๆ สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 5-20 ปี และเมื่อชั้นไขมันมีการอักเสบ จะทำให้เกิด “หินปูน” เกิดขึ้นและหากมีการสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดหัวใจตามมา ส่งผลให้เลือดจะไหลผ่านจุดนั้นได้ช้าลงหรือในปริมาณน้อยลง ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่เส้นเลือดนั้นไปเลี้ยง ขาดออกซิเจนและเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะนี้คือ “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” หรือ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” (Coronary artery occlusion) เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก และเมื่อการบีบตัวของหัวใจน้อยลง จะทำให้เกิด ภาวะน้ำท่วมปอด  ความดันตก วูบหมดสติ กรณีเลวร้ายอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง และหัวใจหยุดเต้นได้

นพ.เจษฎา ให้ข้อมูลต่อว่า “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ “เส้นเลือดหัวใจตีบชนิดเรื้อรัง” ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการให้เห็นชัดเจน อาจมีแน่นหน้าอกบ้างเป็น ๆ หาย ๆ เวลาออกแรงหรือออกกำลังกาย เนื่องจากมีการสะสมของตะกอนไขมันในเส้นเลือดอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลานาน 10-20 ปี จึงจะรู้ว่า “เส้นเลือดหัวใจตีบ” คือ เมื่อเส้นเลือดตีบเยอะ ๆ เราจะมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจถี่ วิงเวียนศีรษะ เนื่องจากเลือดผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ “เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน” ผู้ป่วยอาจไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลย เนื่องจากอาการเกิดขึ้นรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากการที่ชั้นไขมันหรือสิวในผนังเส้นเลือดเกิดการแตก (Plaque  rupture) และมีเกล็ดเลือดมาสะสมบริเวณแผลนั้น จนนูนขึ้นและอุดตันเส้นเลือดอย่างรวดเร็ว บางรายอาการรุนแรงถึงขั้นหมดสติหรือเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคนี้ คือ 1.ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง 2.สูบบุหรี่จัด 3.เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน 4.มีภาวะเครียด 5.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 6.ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน 7.ผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจ จากข้อมูลวิจัยพบว่า ผู้ชายจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ มากกว่าผู้หญิง ประมาณ 3 เท่า และผู้ชายจะเกิดเร็วกว่าผู้หญิงประมาณ 7-10 ปี

“โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” หรือ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” เป็นภัยเงียบที่ทุกคนต้องระวัง เนื่องจากจะยังไม่แสดงอาการหากการตีบของเส้นเลือดยังไม่มาก โดยส่วนใหญ่ที่ตรวจพบจะเป็นอาการ “เส้นเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง” ซึ่งอาการเหล่านี้ แพทย์สามารถทำการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดตีบเฉียบพลันได้ และหากติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง สามารถประเมินและวางแผนการรักษาได้ตามลำดับของโรค แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคืออาการ “เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน” อันนี้อันตรายมาก ๆ เพราะถ้าเป็นกลุ่มอาการเส้นเลือดตีบเรื้อรังจะใช้ระยะเวลานานในการเกิดโรค แต่อาการ “เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน” เป็นอาการที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้า และใช้เวลาไม่นานเส้นเลือดสามารถอุดตันได้ บางรายอาจไม่ถึง 10 นาที ยกตัวอย่างเคสนักกีฬาฟุตบอลหรือแบดมินตันซึ่งอายุไม่เยอะ  มีอาการหมดสติ  เป็นลมล้มฟุบขณะกำลังแข่งขัน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนไข้เสียชีวิต

นพ.เจษฎา กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบันแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยลงเนื่องจากองค์ความรู้ในการป้องกันการเกิดโรคที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงมีอุปกรณ์ที่สามารถประเมินความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้โดยเฉพาะความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดหัวใจ จากสถิติปี 2021 ประชากรทั่วโลก พบผู้ป่วย 1 ใน 3 เสียชีวิตจากโรคหัวใจ หรือประมาณ 20.5 ล้านคน ซึ่งในประเทศไทย  ปี 2565 คนเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 70,000 คนต่อปี เฉลี่ยก็ชั่วโมงละ 8 คน สำหรับคนไข้ที่อายุเกิน 20 ปี มีโอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจ ประมาณ 5% ในขณะที่คนอายุเกิน 65 ปี เสียชีวิตจากโรคหัวใจประมาณ 20% เพราะฉะนั้น โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเบอร์ต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว และเพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิด “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” หรือ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” อยากแนะนำให้คนที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยง 1.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 2.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 3.ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง 4.ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน 5.สูบบุหรี่จัด 6.ผู้ที่มีความเครียด 7.ผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ ให้เข้าตรวจ “Calcium score” หรือการตรวจ Coronary artery calcium scan เพื่อประเมินและลดความเสี่ยง และอยากแนะนำให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อป้องกันการเกิดโรคอย่างเช่น งดสูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

สำหรับเทคโนโลยีการรักษาผู้ป่วย “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” หรือ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” แพทย์ผู้รักษาจะทำการประเมินอาการของคนไข้ หากอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีความเสี่ยงมาก อาจรักษาด้วยการให้ยา เช่น ยาลดไขมัน ยาลดความดันในเส้นเลือด เพื่อควบคุมอาการ แต่หากพบว่าเส้นเลือดหัวใจตีบมากอย่างมีนัยสำคัญ จะรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมมากในปัจจุบัน คนไข้ไม่ต้องพักฟื้นนาน ใช้เวลาในการรักษาเพียง 48 ชั่วโมง คนไข้ก็สามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ถ้าเส้นเลือดตีบเยอะมาก หรือลักษณะเส้นเลือดไม่เหมาะกับการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสหัวใจแทน

เพิ่มเพื่อน