คมนาคม กางแผนของบลงทุน ปี 66 วงเงิน 3.24 แสนล้าน รวม 134 โครงการแบ่ง 2 ด้านพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง 85 โครงการ จัดเต็ม “มอเตอร์เวย์–ถนน–ระบบราง” สั่งทุกหน่วยงานพร้อมทุกมิติ จ่อเสนอสำนักงบฯ 14 ม.ค.นี้
11 ม.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะที่ 3.2 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ผ่านระบบ Zoom ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ วงเงินรวม 324,233 ล้านบาท
ทั้งนี้แบ่งเป็น 1.ด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง (Hard Side) 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), กรมเจ้าท่า (จท.), กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), กรมท่าอากาศยาน (ทย.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวม 85 โครงการ วงเงิน 322,361 ล้านบาท คิดเป็น 99.30%
อย่างไรก็ตามโดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M6 บางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา/ M81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี/ M7, ส่วนต่อขยายเข้าสนามบินอู่ตะเภา/ หมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนบางบัวทอง – บางปะอิน, โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2), โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา, พัทลุง, โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่, ถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – นครพนม และสายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เป็นต้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า และ 2.ด้านการฝึกอบรม งานวิจัย และงานศึกษา (Soft Side) 22 หน่วยงาน อาทิสำนักงานปลัดดกระทรวงคมนาคม, ขบ., จท., สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), กรมการขนส่งทางราง (ขร.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), กรมป่าไม้, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น รวม 49 โครงการ วงเงิน 1,871 ล้านบาท คิดเป็น 0.70%
ทั้งนี้โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนส่งไทยสู่การขนส่งสินค้าทางถนนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน, โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง,
โครงการยกระดับมาตรฐานเครื่องตรวจจับความเร็วเพื่อการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมอุบัติเหตุทางถนน, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องแม่ข่ายเพื่อรองรับภารกิจนำเข้า-ส่งออกไม้ผ่าน NSW ของประเทศไทย, โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาแบบจำลองการคำนวณต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยแบบล่วงหน้า (Predictive Model), โครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์, และการจัดหาเครื่องชั่งน้ำหนักและอุปกรณ์ด้านการจราจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการค้าและการบริการระหว่างประเทศ ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เป็นต้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ได้สั่งการ และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. การพิจารณาโครงการของทุกหน่วยงาน ต้องพร้อมทุกมิติ เมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว ต้องพร้อมดำเนินการทันที 2. ควรประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งผลการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานผู้ปฏิบัติ
3. ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างการรับรู้ และความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริง และการสร้างข่าวปลอม และ 4. ขอให้จัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องกับโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ใช้เงินนอกงบประมาณ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการระบบราง ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำสรุปข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ นำเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 14 ม.ค.2565 ตามขั้นตอนต่อไป