เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนครึ่งที่ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่า หลังจากตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. นี้

13 ก.ค. 2567 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงกดดันต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ฯ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าหนึ่งครั้งในปีนี้

เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องสอดคล้องกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดและตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. ที่ชะลอลงมากกว่าที่คาด หนุนให้ตลาดปรับเพิ่มน้ำหนักความเป็นไปได้สำหรับโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC เดือนก.ย. ที่จะถึงนี้ โดย CPI Inflation ของสหรัฐฯ ชะลอลงลงมาที่ 3.0% YoY ในเดือนมิ.ย. (ตลาดคาดที่ 3.1% YoY)  นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนครึ่งที่ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 ก.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,149.7 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 8,716 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 10,347 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,631 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (15-19 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค ถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่น และผลการประชุม ECB ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กเดือนก.ค. ยอดค้าปลีก ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของอังกฤษยูโรโซน และญี่ปุ่น

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคป และการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกซึ่งคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และกลุ่มเทคโนโลยีจากคาดการณ์เรื่องแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ก่อนจะย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ในเวลาต่อมาตามแรงขายลดเสี่ยงระหว่างรอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศ รวมถึงแรงขายหุ้นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้ารายใหญ่แห่งหนึ่งจากปัจจัยเฉพาะตัว

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยขยับขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยยังมีแรงซื้อต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มค้าปลีกและเทคโนโลยีเข้ามาหนุน ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด หลังประธานเฟดระบุว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวและการตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานจะส่งกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลงสวนทางภาพรวมจากความกังวลเรื่องแนวโน้มหนี้เสีย ซึ่งอาจกระทบผลประกอบการไตรมาส 2/2567

ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,332.04 จุด เพิ่มขึ้น 1.53% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 36,365.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.84% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.38% มาปิดที่ระดับ 356.52 จุด

สัปดาห์ถัดไป (15-19 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,315 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,340 และ 1,350 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีก การประชุม ECB และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น 

เพิ่มเพื่อน