“เผ่าภูมิ” การันตีดิจิทัล วอลเล็ต 4.5 แสนล้านบาท ช่วยเข็นเศรษฐกิจโต 1.3-1.8% แจงหดกรอบเงินเพื่อให้สอดคล้องข้อเท็จจริง ไม่เว่อร์เกิน หลังประเมินคนใช้สิทธิ์ไม่เต็ม 50.7 ล้านคน
11 ก.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า การกำหนดวงเงินของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาทนั้น สืบเนื่องมาจากข้อกังวลจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐ ที่มองว่ารัฐบาลไม่ควรมีการตั้งงบประมาณสูงเกินไป เพราะจะทำให้เป็ฯการเสียโอกาสของประเทศ และจากกาประเมินโครงการเก่า ๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ ก็พบว่าไม่ได้มีประชาชนมาลงทะเบียนใช้สิทธิ์เต็ม 100% โดยจะอยู่ที่ราว 80% เท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ควรตั้งงบประมาณให้เพียงพอและสอดคล้องข้อเท็จจริง จึงออกมาเป็นงบประมาณที่ 4.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในแง่ของผลต่อเศรษฐกิจนั้น ยืนยันว่าตั้งแต่แรกรัฐบาลได้ใช้ตัวเลขคาดการณ์ผู้มาใช้สิทธิ์ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ 40 กว่าล้านคนเป็นตัวเลขเพื่อประเมินผลต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าว่าจะอยู่ที่ราว 1.3-1.8% แต่หากท้ายที่สุดมีผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่าที่ประเมินไว้ ก็เชื่อว่าจะมีผลดีกับเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน
“ตัวเลขกรอบคนที่จะเข้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ 80-90% เป็นตัวเลขที่อยู่ในฐานการประมาณการอยู่แล้ว เวลาเราประมาณการเศรษฐกิจเราไม่ได้ประมาณการว่าจะเข้าโครงการทั้ง 50.7 ล้านคน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และถ้าใครประเมินเศรษฐกิจจากสิ่งนี้ ก็ต้องถือเป็นการประเมินจากสิ่งที่เว่อเกินกว่าความเป็นจริง เราประเมินจากสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่เป็นกรอบการศึกษามาอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้สิ่งที่เปลี่ยน คือ เราก็ไม่ตั้งงบประมาณเกิน เพื่อไม่เป็นการเสียประโยชน์ของประเทศ แต่ถ้ามีคนมาลงทะเบียนเกิน กลไกงบประมาณก็สามารถรองรับได้” นายเผ่าภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องผลกับเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าอยู่ที่เงื่อนไขว่าจะต้องทำให้เงื่อนไขมีผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจมากที่สุด อย่างที่เห็นก็ได้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งต้องยอมรับว่าทำให้ประชาชนใช้ยากขึ้น ตรงนี้เป็นข้อเสีย แต่ข้อดี คือ เงินจะถูกหมุนในประเทศมากขึ้น เพราะอย่างที่ทราบสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้า Import Content สูง เงินไหนสู่นอกประเทศทันที ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในประเทศ ดังนั้นคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงมีการเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค. นี้ พิจารณาตัดสินค้าเหล่านี้ออก เพื่อให้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสูงสุด
สำหรับกรณีเรื่องการใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการนั้น หากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค. นี้ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการกำกับฯ เสนอเรื่องการใช้งบประมาณปี 2567-2568 รองรับการดำเนินการแทน นั่นก็หมายความว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินของ ธ.ก.ส. ดังนั้นเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด