“คลัง” ฮึ่มเงินเฟ้อไทยยังตกขอบ กระทุ้งมาตรการด้านการเงินเร่งขยับตัว หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มอง “เวิลด์แบงก์” เคาะจีดีพีไทยปีนี้โต 2.4% สอดคล้องคาดการณ์ แต่ไม่ใช่ตัวเลขน่าพึงใจ แย้มเตรียมอัดมาตรการเข็นต่อเนื่อง
9 ก.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยจะพิจารณาแค่เรื่องอัตราเงินเฟ้ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย ว่า อยากถามว่าสภาวะเศรษบกิจโดยรวมตอนนี้เป็นอย่างไร ทุกคนเห็นอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันเจอปัญหาหลักจากการที่งบประมาณออกล่าช้าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้เศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้นน และเป็นปัจจัยสำคัญที่มีการเรียกร้องให้มาตรการทางการเงินขยับตัว ขณะที่มาตรการทางการคลังเองก็ต้องขยับตัวให้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทย ทั้งในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายมา 1 ปีแล้ว ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ยอมให้เงินเฟ้อตกขอบเป็นระยะเวลานานขนาดนี้ แค่ 3-4 เดือนก็ถือว่าเป็นไฟแดงที่จะต้องเร่งดำเนินการอะไรสักอย่างแล้ว ซึ่งการที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป็นเวลานาน ความหมาย คือ ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย คนไม่เลือกที่จะซื้อสินค้า ราคาสินค้าจึงไม่ขึ้น นั่นคือสภาวะการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจน้อย ภาวะแบบนี้ต้องรีบแก้ไข
“ผมอยากให้ดูที่ตัวเลขซึ่งมันจะฟ้องทุกอย่าง วันนี้เงินเฟ้อของเราตกขอบมา 1 ปีแล้ว ซึ่งตัวเลขเงินฟ้อที่ออกมาเป็นทางการทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ราว 0.6-0.7% นั้น ยังตกขอบ และยังคงเป็นปัญหา โดยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวได้รวมที่เราเหยียบคันเร่งทางการคลังไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อถึงขึ้นมาอยู่ในระดับนี้ แต่หากรัฐบาลไม่เหยียบคันเร่ง นิ่งเฉยกับปัญหาตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อก็น่าจะอยู่ที่ราว 0.2-0.3% ซึ่งก็คงอยู่กันไม่ได้ ประเทศจะเป็นปัญหา” รมช.การคลัง ระบุ
ส่วนกรณีที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2567 ลงเหลือ 2.4% นั้น มองว่าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับหลาย ๆ สำนักคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจของไทย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นสภาวะเศรษฐกิจที่เราไม่ควรพึงพอใจอยู่แล้ว จำเป็นจะต้องเร่งทำอะไร ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่เตรียมจะเร่งผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้ยังไม่สามารถชี้แจงได้ คงต้องรอให้เรื่องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
“เป็นสภาวะที่เราไม่ควรพึงพอใจอยู่แล้ว เศรษฐกิจโตได้ 2% ต้น ๆ มันไม่ได้ ก็ต้องทำอะไรสักอย่าง จึงเป็นที่มาที่คลังเร่งออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านภาษี มาตรการด้านสินเชื่อต่าง ๆ ส่วนมาตรการด้านการเงินเราเรียกร้องแล้ว เรียกร้องอีก ก็คงจะตจ้องเรียกร้องต่อไปจนกว่าจะเห็นเหตุผลที่น่าพึงพอใจว่าทำไมสภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ เงินเฟ้อเป็นอย่างนี้ ด้วยวิธีการปฏิบัติตามคู่มือปฏิบัติว่าควรจะทำอะไร แล้วทำไมมันยังไม่เกิดขึ้น” นายเผ่าภูมิ กล่าว