น่าห่วง! ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาฯตกรูด เหตุประชาชนไม่มีกำลังซื้อ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567

9 ก.ค. 2567 – ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ในภาพรวมของไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 45.2 จุด ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 (QoQ) ที่มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 48.3 จุด โดยลดลง -3.1 จุด และ ก็ลดลง -2.3 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 47.5 จุด โดยเห็นได้ว่าระดับความเชื่อมั่นฯ ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องมา 6 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 ถึงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการฯ ยังคงมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ต่ำ และลดลงจากเดิมจากความกังวลต่อสถานการณ์ธุรกิจในภาวะปัจจุบัน

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ลดลงนั้น เป็นการลดลงเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเปิดโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ลดลงมากที่สุด -9.9 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.1 จุด (จากระดับ 59.0 จุด) รองลงมาเป็นด้านผลประกอบการลดลง -4.0 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 39.5 จุด (จากระดับ 43.5 จุด) ด้านการจ้างงาน ลดลง -3.7 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.7 จุด (จากระดับ 52.4 จุด) ด้านต้นทุนการประกอบการ (ผกผัน) ลดลง -1.4 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.9 จุด (จากระดับ 40.3 จุด) ด้านการลงทุน ลดลง -1.0 จุด ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.6 จุด (จากระดับ 48.6 จุด) โดยทุกๆ ด้านมีความเชื่อมั่นต่ำกว่าในระดับ 50.0 จุด ยกเว้นด้านยอดขายที่เพิ่มขึ้น 1.4 จุด ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.3 จุด (จากระดับ 45.9 จุด) แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 50 จุด

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ที่มีค่าดัชนีระดับ 51.4 จุด ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีระดับ 57.3 จุด โดยลดลง -5.9 จุด และลดลง -10.7 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 62.1 จุด แต่ยังคงมีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการฯ ยังคงมีความเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หากพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ในด้านยอดขายปรับตัวลดลงมากที่สุด -12.0 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.4 จุด (จากระดับ 66.4 จุด) รองลงมาเป็นด้านผลประกอบการลดลง -9.0 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.0 จุด (จากระดับ 60.0 จุด) ด้านการลงทุนลดลง -6.3 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.1 จุด (จากระดับ 60.4 จุด) การเปิดตัวโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ลดลง -4.0 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 64.4 จุด (จากระดับ 68.4 จุด) และด้านการจ้างงานลดลง -3.8 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.2 จุด (จากระดับ 54.0 จุด) ยกเว้นด้านต้นทุนการประกอบการ (ผกผัน) มีระดับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น 0.2 จุด ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34.6 จุด (จากระดับ 34.4 จุด) แต่ก็อยู่ในระดับที่ต่ำมาก

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้าแสดงให้เห็นว่าปัจจัยลบที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน คือ ไม่มีการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของ GDP ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย – ปานกลาง รวมถึงภาวะดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 2.50 ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยให้ลดลงโดยตรง และการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีรายได้เพิ่มขึ้นน้อย ในขณะที่ปัจจุบันมีค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่ความสามารถในการซื้อลดลง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สินเชื่อรถยนต์เข้ม หนี้ครัวเรือนสูง ฉุดการผลิตงวด ก.ค. 67 ลดลง 16.62%

ส.อ.ท.ชี้สินเชื่อรถยนต์เข้ม หนี้ครัวเรือนสูง กดดันยอดขายในประเทศหดตัว ฉุดการผลิตงวด ก.ค. 67 ลดลง 16.62% พร้อมโดนสงครามซ้ำเติม ตลาดกลุ่มประเทศลูกค้าไม่โต ยอดส่งออกร่วง 22.70%