'สรรพสามิต' ฟุ้ง9เดือนรายได้โตเฉียด4แสนล. เร่งชงครม.เคาะภาษีคาร์บอน-ยกเครื่องแบตเตอรี่

“สรรพสามิต” ฟุ้งรีดภาษี 9 เดือน โตเฉียด 4 แสนล้านบาท ยอดพุ่งจากช่วงเดียวกันปีก่อน อานิสงส์ภาษีเหล้า-เบียร์-สนามกอล์ฟ-สถานบันเทิงหนุน โอดภาษีน้ำมัน-รถยนต์-ยาสูบยังแผ่ว มั่นใจสิ้นปีผลงานแรงดีต่อเนื่อง แจง1-2 เดือนเร่งชง ครม. เคาะภาษีคาร์บอน ยันไม่กระทบประชาชนแน่นอน พร้อมลุยยกเครื่องภาษีแบตเตอรี่ ขึงเกณฑ์คุณภาพเป็นหลัก

8 ก.ค. 2567 – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-มิ.ย.67) ว่า กรมฯ สามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 3.94 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 4 หมื่นล้านบาท หรือ 12.3% มากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 1-2% แต่ต้องยอมรับว่ายังต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้ราว 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาษีน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ต่ำกว่าเป้าหมายราว 2.5 หมื่นล้านบาท ส่นหนึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษีสรรพสามิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จาก8% เหลือ 2% โดยภาษีรถอีวีมีสัดส่วน 10% ของภาษีรถยนต์ทั้งหมด ขณะที่อีก 90% ของภาษีรถยนต์นั้น เป็นผลมาจากภาพรวมตลาดรถยนต์ที่หดตัวลงอย่างแรง โดยยอดการผลิตรถยนต์ลดลงจากปีก่อนราว 30% อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้ขอสินเชื่อให้ปรับตัวลดลง โดยภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั้น คิดเป็น 20% ของการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ทั้งหมด ตลอดจนการชะลอตัวลงของภาษีสรรพสามิตยาสูบ ซึ่งรายได้หายไปประมาณ 8 พันล้านบาท

“ต้อมยอมรับตรง ๆ ว่า เรายังเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่จะพยายามให้เต็มที่ โดยมั่นใจว่าสิ้นปีงบประมาณ 2567 การจัดเก็บรายได้ของกรมฯ จะเติบโตราว 12-13% จากปีก่อน ซึ่งจะมีการเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้มากขึ้นเพื่อมาชดเชยส่วนที่หายไปให้ได้มากที่สุด โดยปัจจุบันมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มที่ขยายตัวดี ประมาณ 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงภาษีสุรา ภาษีเบียร์ ภาษีสนามกอล์ฟ ภาษีสถานบริการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เชื่อว่าตรงนี้จะมีส่วนเข้ามาช่วยเสริม” นายเอกนิติ กล่าว

ทั้งนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการเร่งพิจารณาภาษีคาร์บอน ซึ่งในระยะยาวจะเป็นฐานภาษีตัวใหม่ที่เข้ามาช่วยเสริมบทบาทของกรมที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยขณะนี้ได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องภาษีคาร์บอนไปแล้ว 80-90% หลักการ คือ กรมฯ จะเข้ามาช่วยสร้างกลไกราคาคาร์บอน ซึ่งภาษีคาร์บอนจะแทรกอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และการดำเนินการในช่วง 2 ปีแรก ยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน เช่น ปัจจุบันเก็บภาษีน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6.44 บาทต่อลิตร ซึ่งตามมาตรฐานโลก ประเทศที่เก็บภาษีคาร์บอน จะอยู่ที่ 0.0027 ตันคาร์บอนต่อลิตร โดยระดับดังกล่าวจะไม่กระทบกับประชาชน และไม่กระทบกับรายได้ของกรมฯ อย่างแน่นอน

“ตอนนี้อยู่ระหว่างเร่งพิจารณาในรายละเอียดทั้งหมด โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ ภายใน 1-2 เดือนนี้ กรมฯ กำลังพยายามอยู่ มองว่าประโยชน์ของภาษีคาร์บอน ไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าเราปล่อยคาร์บอนกันคนละเท่าไหร่ แต่ในมิติของโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งสินค้าไปยังยุโรปก็จะได้ประโยชน์ด้วย โดยกรมฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวงพาณิชย์ ถึงกรณีที่โรงงานต่าง ๆ เช่น โรงงานเหล็กซื้อน้ำมันดีเซลไปหลอมเหล็กเพื่อส่งไปยุโรป ซึ่งหากปริมาณน้ำมันที่ใช้มีการเสียภาษีคาร์บอนกับกรมแล้ว ก็อยากให้สามารถนำไปหักกลบกับภาษี CBAM ที่ยุโรปจะเก็บในต้นปี 2569 ด้วย และจากการพูดคุยกับโรงกลั่นบางเจ้า ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” นายเอกนิติ กล่าว

อย่างไรก็ดี กรมฯ ยังอยู่ระหว่างเร่งศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ เพื่อเตรียมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา โดยปัจจุบันเก็บภาษีที่ 8% ทุกประเภทแบตเตอรี่ ซึ่งตอนนี้หลักการนิ่งแล้ว ข้อสรุปเบื้องต้น คือ จะพิจารณาจากคุณภาพของแบตเตอรี่เป็นหลัก เช่น หากเป็นแบตเตอรี่คุณภาพสูง เก็บพลังงานได้เยอะ ชาร์จได้เกิน 1 พันรอบ มีความทนทาน ใช้ได้นาน ก็อาจจะเก็บภาษีในอัตราที่ถูกลง แต่หากเป็นแบตเตอรี่คุณภาพไม่สูง ก็อาจจะเก็บภาษีในอัตราที่แพงกว่า ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีที่จัดเก็บจะออกมาเป็นตารางตามคุณภาพของแบตเตอรี่

เพิ่มเพื่อน