PDPC เตือน! มุขใหม่มิจฉาชีพใช้ AI ปลอมเป็นตำรวจ โทรหาเหยื่อ ล้วงข้อมูลส่วนตัว วอนประชาชนหยุดแชร์ต่อ ก่อนโดนโทษหนัก

จากกรณีตำรวจหญิงเข้าแจ้งความถูกเพจสถานีตำรวจแห่งหนึ่งใน จังหวัดลำพูน นำรูป พร้อมคลิปวิดีโอ ที่แก๊งคลอเซ็นเตอร์ใช้เทคโนโลยี AI ตัดต่อภาพ ปลอมเป็นตัวเธอ โทรวิดิโอคอลหาเหยื่อ พร้อมข่มขู่ล้วงข้อมูลส่วนบุคคล หลอกโอนเงิน สร้างความเสียหายอย่างหนัก หลังจากเกิดเรื่องราวดังกล่าว แอดมินเพจสถานีตำรวจได้นำรูปและคลิปวีดิโอนั้นมาโพสต์หวังเตือนภัยประชาชนให้ระวังภัยมิจฉาชีพ กลายเป็นกระแสกระหึ่มโซเชียล ประชาชนแชร์คลิปต่อ จนทัวร์ลง “ตำรวจหญิง” และครอบครัวอย่างหนัก

8 ก.ค. 2567 – นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเตือนให้ประชาชนและเพจต่างๆ ไม่แชร์ข้อมูลของผู้เสียหาย เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลที่กลุ่มมิจฉาชีพปลอมแปลงขึ้นมา โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการตัดแต่งภาพและนำภาพเหล่านั้นมาหลอกเหยื่อ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง สำหรับกรณีนี้ซึ่งมีการทำข้อมูลปลอม/เท็จขึ้นมา หากประชาชนนำไปแชร์ต่อ เสี่ยงต้องรับโทษหนัก ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง ทางปกครอง ตามกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งรวมถึง กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า กลุ่มมิจฉาชีพได้พัฒนาเทคโนโลนีต่างๆ มาหลอกผู้คน สร้างความเสียหายทุกๆวันแพร่ไปหลากหลายวงการ เช่น การปลอมแปลงรูปถ่ายเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงศิลปินดารา หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคม มาหลอกเหยื่อ ดังนั้นจึงอยากเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ หากไม่แน่ใจว่า บุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ สามารถโทรตรวจสอบจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ทันที และอย่านำข้อมูลเหล่านั้นไปแชร์ต่อ

นายศิวรักษ์ กล่าวเสริมอีกว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กล่าวได้ว่าเป็น เทคโนโลยีที่มีฟังก์ชันการทำงานเลียนแบบมนุษย์ได้ และยังสามารถเรียนรู้ข้อมูลเพื่อพัฒนาระดับความรู้ความเชี่ยวชาญและความฉลาดให้สูงขึ้นได้เองอย่างต่อเนื่อง  หากเหล่ามิจฉาชีพนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ในทางที่ผิด อาจสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับองค์กรหรือบุคคลอื่น ๆ ได้ โดยทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC พร้อมทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้การโพสต์หรือแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ระมัดระวังอาจเข้าข่ายผิดกฏหมายหลายฉบับซึ่งมีโทษหนักทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อย่าเพิ่งเชื่อ-อย่าเพิ่งแชร์-อย่าเพิ่งโอน” คาถาป้องกันแก๊ง Call Center

คนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ถูกหลอกให้ร่วมลงทุน พนันออนไลน์ ด้วยการเปิดบัญชีม้า ซื้อสินค้า-โอนเงิน-กู้เงิน ไตรมาสแรกปี 67