ปัจจัยกดดันรุมเร้าฉุดอุตฯยานยนต์ไทยส่อแววร่วง

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สามารถเป็นตัวชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศได้ เนื่องจากจะสะท้อนไปยังอุปสงค์และอุปทานว่ามีความแข็งแกร่งเพียงใด หากภาพรวมในประเทศดี ก็จะส่งผลไปที่ยอดขาย ยอดผลิต รวมไปถึงอาจจะสะท้อนไปยังยอดส่งออกให้มีทิศทางที่ดีได้ แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศยังมีความเปราะบาง ก็อาจจะส่งผลกระทบไปยังยอดต่างๆ ล่าสุดการประชุมของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีความเห็นว่าภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเปราะบาง สะท้อนจากอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง อย่างยานยนต์และอสังหาฯ

6 มิ.ย. 2567 – โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ส่วนยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น อาจจะกระทบทำให้ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4% แต่อย่างไรก็ตาม กกร.ยังคงคาดการณ์กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 2.2-2.7% เท่าเดิม และเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-1.0%

และด้วยแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังส่อแววไม่ดีนักนั้น มีความสอดคล้องกับที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พ.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 98.34 หดตัว 1.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.77% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.16 หดตัวเฉลี่ย 2.08% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.30%

ทั้งนี้ จากการที่ MPI หดตัวนั้นมีอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.22% จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการหดตัวของตลาดภายในประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

และยังสอดคล้องกับที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดผลิตรถยนต์ที่ลดลงนั้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 หลังคนไทยยังมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง บวกกับเศรษฐกิจที่ซบเซา โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ รวมไปถึงข้าวของ ค่าเดินทาง และค่าน้ำมันที่แพง ประชาชนจึงรัดเข็มขัด โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ยังคงคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ทำให้ตลาดรถยนต์นิ่ง อาจกำลังเป็นภาพสะท้อนบทเรียนคล้ายคลึงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2539 ที่ทำให้ภาพรวมของการผลิตและขายนั้นตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุนี้เองทำให้ ส.อ.ท.อาจจะต้องพิจารณาปรับตัวเลขเป้าหมายการส่งออกของประเทศลง

โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในเดือน ก.ค.กลุ่มยานยนต์จะประชุมเพื่อพิจารณาปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกของประเทศไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากเดิมในปีนี้กลุ่มยานยนต์ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์รวมไว้ที่ 1,900,000 คัน แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังเปราะบางและกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง จึงอาจจะต้องปรับเป้าหมายยอดการผลิตเพื่อขายในประเทศตลอดทั้งปีเหลือเพียง 700,000 คัน จากเป้าหมายเดิม 750,000 คัน หรือลดลง 50,000 คัน ขณะที่เป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งไว้ 1,150,000 คัน ยังมั่นใจว่าจะสามารถส่งออกได้ตามแผนที่กำหนดไว้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ประชาชนมีความระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้ รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในสภาฯ แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 3% หรือไม่ ยังน่ากังวลถ้ายอดผลิตรถยนต์และขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เพราะทั้ง 2 อุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องและแรงงานมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมาก

ด้วยเหตุนี้เองจึงสะท้อนไปยังภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ และทำให้เห็นถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากปัจจัยที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้การเติบโตนั้นไม่เป็นไปตามที่หมาย แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ปัจจัยที่ ส.อ.ท.นำมากล่าวอ้างว่าการเติบโตของตัวเลขการผลิตรถยนต์นั้นต่ำลง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของปัจจัยการซื้อรถยนต์ใหม่ๆ นั้นถูกกีดกัน โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินสำหรับการซื้อรถยนต์นั้นยากขึ้น และยังมีความเข้มงวดอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ควบคุมให้การซื้อรถยนต์ใหม่ๆ ของผู้บริโภคนั้นติดขัดและไม่สามารถทำได้

แต่ในประเด็นนี้เอง ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างนายปิติ ดิษยทัต ได้ออกมากล่าว ในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567 ว่า ภาคยานยนต์กำลังเจอความท้าทายที่หนักหน่วงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการปฏิเสธสินเชื่อมีมากขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อชะลอลง และเท่าที่พูดคุยกับผู้ประกอบการและธนาคารพาณิชย์พบว่า มาตรฐานสินเชื่อโดยรวมไม่ได้เปลี่ยน แต่คุณภาพผู้ขอกู้แย่ลง ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) สูงขึ้น ทำให้การปฏิเสธสินเชื่อมีมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวลง ก็มาจากการเร่งปล่อยสินเชื่อและซื้อรถยนต์ไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย

นอกจากนี้ นายปิติ ยังระบุด้วยว่า อีกปัจจัยที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ลดลงมาจากราคารถยนต์มือสองที่ลดลง จึงทำให้ความสามารถในการซื้อหรือความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ลดลงไปด้วย เนื่องจากผู้ซื้อรถยนต์ใหม่จำนวนมากมักจะนำรถยนต์เดิมไปเทิร์นก่อนซื้อคันใหม่ ดังนั้นเมื่อราคารถยนต์มือสองลดลง จึงทำให้ผู้ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่เผชิญความยากลำบากขึ้นหรือต้องหาส่วนต่างมากขึ้น ขณะที่ นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายว่า อีกปัจจัยที่ทำให้ราคารถยนต์มือสองลดลงมาจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ค่อนข้างถูกเข้ามาดิสรัปต์ตลาด นอกจากนี้การแข่งขันราคาของ EV ก็ยังทำให้คนมีกำลังซื้อรอว่าราคาอาจจะลดลงกว่า

ขณะที่ นายรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยเกี่ยวกับภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน โดยระบุว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้กลไกสินเชื่อทำงานได้ปกติในภาพรวม สินเชื่อธุรกิจโดยรวมขยายตัว อย่างไรก็ดี พบว่าสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตชะลอลงกว่าประเภทอื่น โดยสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ขอกู้สูงขึ้น และกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยเป็นไปตามที่ประเมินไว้ และหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SML) และหนี้เสีย (NPL)

ด้วยเหตุนี้เองแสดงให้เห็นว่าปัจจัยของความเข้มงวดจากสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้กับผู้ที่จะซื้อรถยนต์ใหม่นั้น ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการลดกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ลง แต่เป็นปัจจัยส่วนตัวและเรื่องอื่นๆ มากกว่าที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องเปลี่ยนมุมมองของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วว่าจะมีวิธีการใดเข้ามาจัดการปัญหาในส่วนนี้

ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เพียงแค่เรื่อง การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับที่ ธปท.เปิดเผยมา โดยในประเด็นดังกล่าว นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ได้เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2567 แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ภาวะทางเศรษฐกิจ ที่รวมไปถึงภาระหนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และหนี้เสีย (NPLs) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจซื้อของประชาชนที่ลดลงและยอดการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ

สถานการณ์ความเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากมูลค่า  และแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รถยนต์มือสองราคาตก เนื่องจากปริมาณซัพพลายล้นตลาด และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและยาวนาน เช่น ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน

2.นโยบายและกฎระเบียบด้านยานยนต์ โดยเฉพาะการบังคับใช้มาตรฐานมลพิษระดับ ยูโร 5 ทั้งรถยนต์และน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคารถยนต์และน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 3.0, EV 3.5 และมาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ รถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Bus & E-Truck) โดยให้บริษัทนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าเพื่อมาใช้งาน สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้            และการมุ่งสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Society) ภายในปี พ.ศ.2593 ตามที่รัฐบาลได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่สกอตแลนด์ เมื่อปี 2564 โดยมีการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด และ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.การค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศแล้วจำนวนทั้งสิ้น 15 ฉบับ 19 ประเทศคู่ค้า และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5 ฉบับ โดยมีฉบับสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เช่น ข้อตกลงการค้าไทย-ยุโรป, ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA), ไทย-เกาหลีใต้ รวมไปถึงมาตรการกีดกันทางการค้า (Non Trade Barrier) เช่น มาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับรถยนต์ใหม่ (New Vehicle Efficiency Standard : NVES) คาดว่าจะบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยเป็นการกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ที่นำเข้าไปยังประเทศออสเตรเลีย ทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ.

เพิ่มเพื่อน