'เวิลด์แบงก์' หั่นจีดีพีไทยเหลือ 2.4% เหตุเติบโตช้า

“เวิลด์แบงก์” หั่นจีดีพีเหลือ 2.4% ชี้การเติบโตยังช้า แนะทำนโยบายการคลังแบบเจาะจง เน้นความคุ้มค่าของงบประมาณ คาด “แบงก์ชาติ” คุมดอกเบี้ยต่อคุ้มเงินเฟ้อจากดิจิทัล วอลเล็ต

3 ก.ค. 2567 - นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลดลงเหลือ 2.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% โดยเป็นการฟื้นตัวค่อนข้างช้า ภายใต้ความท้าทายใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ความชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวของไทย

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้ว่าปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวก แต่ก็ยังมีความเปราบาง เพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ในช่วงต้นปี 2568 จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ ธปท. ที่จะต้องดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีปัจจัยกดดันจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ซึ่งโครงการนี้มีผลกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นประเด็นที่ยากในการดำเนินนโยบายการเงิน ดังนั้น ภายใต้ปัจจัยที่ไม่แน่นอนดังกล่าว จึงมองว่า ธปท. ควรจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรอความชัดเจนมากขึ้นก่อนจะดำเนินนโยบายการเงินไม่ว่าจะลด หรือคงอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อ ๆ ไป

“ในภาพรวมเวิลด์แบงก์ยังมองว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายขอ ธปท. ได้ และเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังมีความเปราะบางจากราคาพลังงาน แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวก แต่ก็ยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานด้านอื่น ๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นลบได้” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

2. ความท้าทายเรื่องภาคการคลัง โดยต้องยอมรับว่าการลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในช่วงหลังโควิด-19 การลงทุนของไทยติดลบมาเยอะ เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งไทยมีการปรับตัวเยอะ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความล่าช้าถึง 7 เดือนในการใช้งบประมาณปี 2567 ส่วนหนี้สาธาณณะตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 คงตัวอยู่ที่ราว 64% หลังจากเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากรายจ่ายเพื่อดูแลสังคม แต่ภาพรวมก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 70% ของจีดีพี แต่ยอมรับว่าทิศทางของหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นประเด็นที่น่าห่วงและต้องจับตาดู

3. ความท้าทายเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง หากประเทศไทยมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผ่านการเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา สาธารณะสุข และเพิ่มศักยภาพแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้คนย้ายเข้าไปสู่งานที่มีมูลค่าเพิ่มและมีรายได้ดีขึ้นนั้นจะเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยยกระดับการเติบโตระยะปานกลางให้เพิ่มขึ้นอีก 1% จากระดับคาดการณ์ในปัจจุบันที่ 2.7%

“นโยบายการคลังจะต้องตอบโจทย์สังคมสูงอายุให้มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอจะรักษาเสถียรภาพไม่ให้หนี้สาธารณะสูงเกินไป โดยสิ่งที่ต้องทำคือ การมุ่งเน้นการทำนโยบายการคลังแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้สูงอายุ โดยมองว่าหากทำนโยบายที่กว้างจะส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะของประเทศ ส่วนภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นของไทย เรามองว่ามีความจำเป็นจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นมาตรการที่มีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย รวมถึงต้องพิจารณาเรื่องพื้นที่ทางการคลังว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลดี ผลเสียอย่างไร ดังนั้นจึงควรเป็นมาตรการที่เป็นบวก ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน