ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน พ.ค. มูลค่า 826.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 4.02% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,408.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 35.22% เหตุราคาทองโลกเริ่มนิ่ง การส่งออกไปเก็งกำไรไม่เสี่ยงเหมือนก่อนหน้านี้ รวม 5 เดือน ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 11.24% รวมทองคำ ลด 1.70% แนะผู้ประกอบการนำ AI มาช่วยทำธุรกิจ ทั้งวิเคราะห์ตลาด วางแผน ทำคอนเทนต์ เพิ่มโอกาสขายและส่งออก
3 ก.ค. 2567 – นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน พ.ค.2567 มีมูลค่า 826.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.02% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,408.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.22% ส่วนยอดรวม 5 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 3,851.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 11.24% หากรวมทองคำ มูลค่า 6,324.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.70%
“การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำฟื้นตัวต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จากภาวะเงินเฟ้อชะลอตัว ธนาคารกลางหลายประเทศมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา ทำให้ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และการผลิตโลกให้ฟื้นตัว และได้รับผลดีจากการกระตุ้นการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ที่ทำอย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว มีการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้การซื้ออัญมณีและเครื่องประดับดีขึ้นตามไปด้วย”
สำหรับการส่งออกทองคำเดือน พ.ค.2567 มีมูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 135.39% เนื่องจากราคาทองคำเริ่มนิ่งและผันผวนลดลง ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น จากที่ช่วง 2 เดือน ก่อนหน้านี้ คือ มี.ค.และ เม.ย. การส่งออกทองคำลดลงต่อเนื่อง เพราะผู้ส่งออกกลัวความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา ส่วนยอดรวม 5 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) ส่งออกทองคำมีมูลค่า 2,472.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 16.79% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 75.02% และ เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 64.57%
ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยฮ่องกง เพิ่ม 25.84% สหรัฐฯ เพิ่ม 8.41% อินเดีย เพิ่ม 80.64% เยอรมนี เพิ่ม 14.93% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 15.26% เบลเยียม เพิ่ม 57.68% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 2.36% อิตาลี เพิ่ม 0.10% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.31% แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 16.74%
ทางด้านการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 10.48% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 24.51% พลอยก้อน เพิ่ม 90.73% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 9.47% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 5.91% เพชรก้อน เพิ่ม 0.29% เพชรเจียระไน เพิ่ม 11.72% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 11.93% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 33.22% ส่วนเครื่องประดับแพลทินัม ลด 40.46%
นายสุเมธกล่าวว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้พัฒนามาสู่ยุคของ Gen AI ที่เพิ่มความสามารถจากเอไอแบบเดิม ทำให้มีหลายบริษัทนำมาใช้ในหลายรูปแบบ ที่ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยังช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ทั้งการสร้างเนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทำนายแนวโน้มตลาด ตอบคำถามลูกค้าอัตโนมัติแล้ว ภาคธุรกิจยังมีการนำมาใช้ทำ Content Marketing ตั้งแต่การวางแผน การคิดคอนเทนต์ ไปจนถึงการช่วยผลิตคอนเทนต์ ทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอ ที่รวดเร็วมากขึ้น เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น การนำเอไอมาใช้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การใช้อย่างเข้าใจและต่อยอดได้ตรงจุด จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และเพิ่มโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น