ครม.อนุมัติปรับแผนบริหารหนี้ ปูดก่อหนี้ใหม่เพิ่มดันทะลุ1ล้านล้าน

“ครม.” อนุมัติปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 ปูดแผนก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 2.75 แสนล้านบาท ดันพุ่งทะลุ 1 ล้านล้านบาท

2 ก.ค. 2567 – นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ โดย1. อนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567ในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย แผนก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 275,870.08 ล้านบาท จากเดิม 755,710.63 ล้านบาท เป็น 1,030,580.71 ล้านบาท, แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มสุทธิ 33,420.32 ล้านบาท จากเดิม 2,008,893.74 ล้านบาท เป็น 2,042,314.06 ล้านบาท

และแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มสุทธิ 54,555.17 ล้านบาท จากเดิม 399,613.70 ล้านบาท เป็น 454,168.87 ล้านบาท เช่น การปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน) 269,000 ล้านบาท, การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 50,000 ล้านบาท, การปรับเพิ่มวงเงินแผนการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 29,200 ล้านบาท และการปรับเพิ่มวงเงินแผนการชำระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 25,339.17 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ [Debt Service Coverage Ratio (DSCR)] ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุง ครั้งที่ 2 โดยให้ ธพส. และ รฟท. รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุง ครั้งที่ 2 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฯ ดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ มอบหมายสำนักงบประมาณ ให้รับข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ ในส่วนของต้นเงินและดอกเบี้ย ของหนี้รัฐบาล และหนี้รัฐวิสาหกิจ ให้เพียงพอและสอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาล ให้อยู่ระหว่าง 2.5 – 4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปกู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งอนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

เพิ่มเพื่อน