'ครม.' รับทราบแนวทางศึกษายกเลิก Duty Free ขาเข้าสนามบิน 8 แห่ง

“ครม.” รับทราบแนวทางศึกษายกเลิก Duty Free ขาเข้า สนามบิน 8 แห่ง หวังส่งเสริมการบริโภคและใช้สินค้าภายในประเทศ ด้าน “คลัง” กางผลศึกษาหยุด 1 ปี หนุนค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวเพิ่ม 570 บาทต่อคนต่อทริป ฟุ้งช่วยปั๊มเงินหมุนเวียนอุ้มร้านค้าทั่วไป 3,460 ล้านบาท

2 ก.ค. 2567 – นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ 1. แนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขาย สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า (ร้าน Duty Free ขาเข้า) ของผู้ประกอบการ 2. ผลประโยชน์ และผลกระทบ ของการหยุดการดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า ที่กระทรวงการคลังได้ศึกษาไว้ในเบื้องต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามและประเมินผลของการหยุดการดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างใกล้ชิดต่อไป

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ย.66 เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย (มาตรการฯ) และมอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ทั้งผลประโยชน์ และผลกระทบ ในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งร้าน Duty Free ขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้าน Duty Free สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท

2. ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย โดยผู้เดินทางชาวไทย อาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทาง เพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน

3. ผู้ประกอบการร้าน Duty Free จะสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไป เสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาส และส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป

4. ผลต่อรายได้ของภาครัฐ โดยเม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม5. ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม: กรณีที่มีการหยุดดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนิติบุคคล 3 ราย ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งร้าน Duty Free ขาเข้า ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้า ของท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ 1. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. ท่าอากาศยานดอนเมือง 3. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 4. ท่าอากาศยานภูเก็ต 5. ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 6. ท่าอากาศยานอู่ตะเภา 7. ท่าอากาศยานสมุย และ 8. ท่าอากาศยานกระบี่

โดยจากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้าน Duty Free ขาเข้า รวมทั้งสิ้น 3,021.75 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้ง 3 ราย ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรโดยยินดีที่จะหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า ตามนโยบายของรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว

เพิ่มเพื่อน