'สุระพงษ์' เร่งเครื่องรถไฟ 'ไฮสปีด-ทางคู่' สายอีสาน เสร็จปี71

‘สุรพงษ์’ ตรวจงานระบบราง สั่ง รฟท.เร่งไฮสปีด ‘กรุงเทพ-โคราช’ เปิดให้บริการตามแผน ส่วนทางคู่สายอีสาน จี้เคลียร์ปัญหา 2 จุด เร่งชง ครม.เพิ่มงบเวนคืนกว่า 197 ล้านบาท ลุยปรับแบบสะพานสีมาธานี  ปักหมุดสายอีสานเสร็จปี 71

2  ก.ค.2567-นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร(กม.) ได้กำชับให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 2571  ปัจจุบันเหลือ 2 สัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 (เฟสแรก) ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) ว่า ขณะนี้ ยังติดปัญหา 2 จุด คือ จุดที่ 1 บริเวณอำเภอปากช่อง เรื่อง พรฎ.เวนคืนที่ดินที่เริ่มตั้งแต่ปี 2559 และหมดอายุไปแล้วเมื่อปี 2564 ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างต่อได้ จึงมอบหมายให้ประธานบอร์ดการรถไฟฯ ไปดำเนินการเจรจาปรองดอง โดยหลักการการรถไฟฯ ดำเนินการเวนคืนที่ดินเอง เพื่อให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะใช้งบประมาณฉุกเฉินเร่งด่วน วงเงิน 200 กว่าล้านบาท

ส่วนจุดที่ 2 บริเวณสะพานสีมาธานี ปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้ว โดยการก่อสร้างข้ามสะพานสีมาธานีซึ่งจบเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับบีโอคิวก่อนนำเสนอบอร์ดการรถไฟหรือปรับแบบนิดหน่อย รวมทั้งอยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขงบประมาณที่เพิ่มเติม ซึ่งจะใช้งบประมาณไม่มากนัก คาดว่า จะสามารถเสนอเข้าบอร์ดการรถไฟฯ ภายในเดือนสิงหาคม 2567 จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน ก.ย.-ต.ค. 2567 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางของประชาชน

“ในปี 2571 จะถือเป็นยุคความรุ่งเรืองของรถไฟทางคู่สายอีสาน เพราะจะมีทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไปจนถึงหนองคาย รวมถึงยังมีรถไฟทางคู่ ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงมาบกระเบาไปจนถึงคลองขนานจิตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณช่วงปลายปี 2568 ส่วนจากคลองขนานจิตรไปถึงโคราช ยังติดปัญหาเรื่องสะพานสีมาธานี ซึ่งยังต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือจะแล้วเสร็จถึงปี 2571 ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโคราช จาก 3 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมง หรือลดระยะเวลาไป 1 ชั่วโมง“ นายสุรพงษ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน