มหากาพย์ปม 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ข้อพิพาทรัฐ-เอกชน ทำค่าเสียโอกาสพุ่ง 1.3 แสนล้าน ใครรับผิดชอบ

ภายหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องข้อพิพาทระหว่างรัฐ-เอกชน ในคดีโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลายคนอาจไม่ทราบว่า มหากาพย์เรื่องนี้ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้โครงการก่อสร้างมีความล่าช้า หนำซ้ำยังสร้างต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าดูแลรักษาระบบที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งค่าเสียโอกาสนับแสนล้านบาท ทว่าเรื่องนี้ “กระทรวงคมนาคม” มั่นใจว่า โครงการได้ไปต่อ แต่จะง่ายหรือไม่? เรียกว่าต้องติดตามกันหลังจากนี้

29 มิ.ย. 2567 – เมื่อย้อนดูไทม์ไลน์มหากาพย์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม นับจากวันที่ การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 มีการปรับเกณฑ์เทคนิคโดยรื้อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอใหม่กลางคัน หลังจาก รฟม.ปิดการขายซองเอกสารประมูลไปแล้วเกือบ 1 เดือน จนเป็นเหตุมีเอกชนฟ้องร้อง

โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี หนึ่งในผู้ซื้อและยื่นซองเอกสารการร่วมลงทุนของโครงการ เห็นว่าการประมูลโครงการไม่โปร่งใส และเอื้อเอกชนบางรายในการแข่งขันครั้งนี้ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นการประมูลครั้งที่ 1 และคดีที่ 1 คดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายกฟ้องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลครั้งแรกชอบด้วยกฎหมาย

หลังจากนั้นก็มีคดีที่ 2 หลังจากที่มีการปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาใหม่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เห็นชอบยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนของโครงการ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มชอบด้วยกฎหมาย

คดีที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการประมูลครั้งที่ 2 บีทีเอสซีได้ฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็น รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กีดกันการแข่งขันไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ปัจจุบันศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณา ยังไม่มีการนัดไต่สวนเพิ่มเติม 

ในระหว่างที่รอคอยการชี้ขาดนั้น รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 และในวันที่ 16 ก.ย.2565 รฟม.ประกาศผลพิจารณาข้อเสนอเอกชน โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นบริษัทที่ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด แต่ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการลงนามกันได้ เพราะต้องรอศาลชี้ขาด จนล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น พิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีนี้

แต่ประเด็นที่กำลังร้อนแรง และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันหนักคือ ผลที่เกิดจากการโดนเอกชนฟ้องร้อง ส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ในปัจจุบันแม้ว่างานโยธาส่วนตะวันออก โครงการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากสัญญาจ้างเดินรถผูกอยู่กับงานโยธา ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่ติดอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองมาเป็นเวลานับปี  

โดย รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกล่าช้า พบมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะงานก่อสร้างโยธาส่วนตะวันออกที่เสร็จแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ มีค่าใช้จ่ายตามมามากมาย ทั้งการบำรุงรักษาระบบ วงเงิน 495 ล้านบาทต่อปี, ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก วงเงิน 1,764 ล้านบาทต่อปี บวกกับค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่ รฟม.มีแผนจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกในเดือน มี.ค.2567 แต่มีการล่าช้าออกไปถึง 3 ปี เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ทำให้ประเทศเสียหายถึง 1.3 แสนล้านบาท แบบนี้ “ใครจะรับผิดชอบ?”               

ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำตัดสินชี้ขาดออกมาแล้วก็ถือว่าโครงการไม่มีปัญหาติดขัดใดๆ รฟม.แจ้งว่า จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุน 2562 ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีระยะเวลาในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

ขณะนี้ รฟม.ได้ส่งผลการคัดเลือกเอกชน และส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มายังกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ หาก ครม.เห็นชอบ รฟม.จะสามารถลงนามสัญญากับเอกชน และเริ่มดำเนินโครงการได้ทันที โดยตามแผนงานเบื้องต้นคาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนประมาณเดือน ต.ค.2567 และเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค.2571

ส่วนที่ขณะนี้ยังมีคดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการ ม.36 กรณีการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกโดยทุจริต จะมีผลกระทบต่อการพิจารณาของ ครม.หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการพิจารณา และการลงนามสัญญา เพราะเป็นการฟ้องส่วนบุคคล และก่อนหน้านี้สมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ทาง รฟม.ได้เสนอผลการคัดเลือก และร่างสัญญาดังกล่าวเข้ามายัง ครม. แต่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า เรื่องนี้ยังฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง ขอให้รอศาลตัดสินก่อน หากตัดสินมาแล้วก็เดินหน้าต่อได้

“เวลานี้เรื่องที่น่าห่วงที่สุดคือ รัฐบาลมีการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี จนแล้วเสร็จ 100% แต่ไม่สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ เพราะติดเรื่องปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ ดังนั้นเมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินเสร็จสิ้นแล้ว ก็ควรเดินหน้าต่อ และควรเปิดให้บริการโดยเร็วที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน” นายสุริยะกล่าว

ด้าน นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากนี้รายละเอียดจะอยู่ในอำนาจของกระทรวงคมนาคม ที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณา หลังจากที่ ครม.เห็นชอบแล้ว การเดินรถส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ที่ปัจจุบันงานโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จ ดังนั้นหากลงนามสัญญากับเอกชนได้ ก็จะสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ให้เอกชนเริ่มติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และจัดหาขบวนรถเข้ามาให้บริการ โดยตามสัญญามีกรอบเวลาให้เอกชนดำเนินการ 3 ปี 6 เดือน

สำหรับการเปิดประมูลโครงการ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 มีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท และ 2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ บริษัท ขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

โดย รฟม.ประกาศให้ BEM ชนะประมูล เนื่องจากผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐสนับสนุน ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ (Heavy Rail) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้าน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 39.8 กม. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. และส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทาง 22.57 กม. ซึ่งด้านตะวันออกก่อสร้างงานโยธาเสร็จ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ทำให้ตอนนี้ รฟม.มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธา (Care of Work) เฉลี่ยเดือนละ 41.26 ล้านบาท ดังนั้นหากยิ่งล่าช้าจะยิ่งเกิดความเสียหายต่อภาครัฐ และประชาชนเสียประโยชน์ที่จะได้ใช้บริการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอร์ดกองทุนสื่อ “เห็นชอบ” ดร.ธนกร ศรีสุขใส ดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุน สมัยที่ 2

(28 มิถุนายน 2567 ) เวลา 15.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์