เปิดร่าง Oil Plan 2024 สร้างความมั่นคงพลังงาน  มุ่งพัฒนาเชื้อเพลิงรับกระแสเปลี่ยนผ่านดันเงินลงทุนกว่าแสนล้าน

สถานการณ์การใช้น้ำมันของประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอน ดังนั้น จึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคัน นอกจากนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องแบกรับภาระพยุงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนตามนโยบายของรับบาล ส่งผลให้ปัจจุบันมีสถานะติดลบกว่า 1.1 แสนล้านบาท

29 มิ.ย. 2567- ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงแผนการบริการและจัดหาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน นอกจากรองรับกระแสการเปลี่ยนผ่านแล้ว ยังมุ่งให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งล่าสุด กรมธุรกิจพลังงาน  หรือ ธพ. ได้จัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567–2580 (Oil Plan 2024) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพลังงานชาติ ที่ประกอบด้วย 5 แผน คือ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (PDP 2024) 2.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.2567-2580 (Gas Plan 2024) 3.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567-2580 (Oil Plan 2024) 4.แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2567-2580 (AEDP2024) และ 5.แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2567-2580 (EEP2024) และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานเปิดรับฟังความคิดเห็น Oil Plan 2024 ระบุว่า ทิศทางความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโลกที่มีแนวโน้มลดลงในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ที่ส่งผลให้ Oil Peak demand ของประเทศไม่เกินปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) แต่น้ำมันยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยเฉพาะในภาคขนส่ง จึงได้วางกรอบการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้วิสัยทัศน์ “ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานด้วยความมั่นคง และยกระดับธุรกิจพลังงานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Transitioning with security and competitiveness)”

ถกเลือกชนิดน้ำมันพื้นฐาน

ขณะที่ นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 นอกจากจะมีการปรับลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศลง โดยน้ำมันดีเซลจะกำหนดให้ไบโอดีเซล B7 และให้ดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือก และจะสนับสนุนให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ไปใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2578-2580 แล้วในส่วนของน้ำมันเบนซินอยู่ระหว่างกำหนดให้น้ำมันชนิดใดเป็นน้ำมันพื้นฐาน ระหว่างแก๊สโซฮอล์ 95 หรือ แก๊สโซฮอล์ E20 หรือแก๊สโซฮอล์ 91 หรือ E10  

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขนส่งน้ำมันทางท่อให้มากขึ้น จากปัจจุบันการขนส่งน้ำมันทางท่อมีสัดส่วนประมาณ 36-39% นอกนั้นเป็นการขนส่งทางบก อย่างไรก็ตาม ในแผน Oil Plan 2024 จะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งน้ำมันทางท่อเป็น 45% ในปี 2570 และเป็น 55% ในปี 2580 และมุ่งเน้นการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ในประเทศให้ได้ 90 วัน ตามนโยบายรัฐบาล หรือประมาณ 14,310 ล้านลิตร จากปัจจุบันสำรองน้ำมันดิบ 6% และน้ำมันสำเร็จรูป 1% ของการจำหน่าย หรือเท่ากับเป็นการสำรองน้ำมันรวม 25 วัน แต่ยังมีในส่วนของผู้ผลิตที่สำรองไว้อีก 45-50 วัน ทำให้วันนี้ไทยยังมีการสำรองน้ำมันโดยรวมประมาณ 70-75 วัน แต่เพื่อความมั่นคงพลังงานจะต้องเพิ่มการสำรองเป็น 90 วัน

เอกชนมีความกังวล

อย่างไรก็ตามในการรับฟังความคิดเห็นนั้น มีตัวแทนภาคเกษตรกรและเอกชนที่เข้าร่วมงานแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ สะท้อนผลกระทบไปในทางเดียวกันถึงผลกระทบและความยั่งยืนพลังงานของไทยที่ได้จากพืชผลทางการเกษตร รวมถึงมีข้อกังวลว่าการจัดทำแผน AEDP และ OIL PLAN ควรสอดรับกัน พร้อมวอนหน่วยงานจัดทำประสานงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบทุกมิติในการจัดทำแผนนี้

ขณะที่ด้าน สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง และสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า ด้วยปัจจุบันประเทศไทยได้มีการวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามหลัก BCG Model และยังได้มีการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ.2065 

ดังนั้น เอทานอลที่ผสมในน้ำมันเบนซินถือได้ว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐกลับมีการปรับลดเป้าหมายและลดการสนับสนุนการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งลง ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ขัดแย้งต่อการบรรลุเป้าหมาย พร้อมชูประโยชน์ 3 ด้าน จากการส่งเสริม E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน

สาระสำคัญ 4 ด้าน

สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อความมั่นคงกรมธุรกิจพลังงานได้วางแผนทบทวนรูปแบบและอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม รวมถึงจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการและเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ

2.ด้านการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เพื่อบริหารจัดการอุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้มีแนวโน้มลดลง บนเงื่อนไขที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะไม่สามารถอุดหนุนราคาได้ในอนาคต มีราคาเหมาะสม และสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ จึงได้กำหนดแนวทางดำเนินการ ดังนี้ ภาคขนส่งทางบก ปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลและกำหนดให้มีเบนซินฐานที่เหมาะสมกับประเทศ นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบและมาตรฐานเพื่อกำกับดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาใช้ในภาคขนส่งที่คาดว่าจะพร้อมใช้เชิงพาณิชย์ในอนาคต

 ขณะที่ ภาคขนส่งทางอากาศ ส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบิน มุ่งใช้ศักยภาพวัตถุดิบจากในประเทศ เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (used cooking oil : UCO) น้ำมันปาล์มดิบ เอทานอล คาดว่าจะสามารถเสนอให้เริ่มมีสัดส่วนการผสม SAF ที่ 1% ในปี พ.ศ.2569 และ ภาคขนส่งทางน้ำ ส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

3.ด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการผลิตและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงานได้วางแนวทางปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย การกำกับดูแลการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นน้ำมัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการคลังน้ำมัน ผลักดันการขนส่งน้ำมันทางท่ออย่างเต็มประสิทธิภาพ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

 4.ด้านการส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กรมธุรกิจพลังงานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่สำหรับขับเคลื่อนในระดับนโยบายประเทศ ประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเคมีพลาสติกชีวภาพ เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ พร้อมเสนอกลไกการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2570

เม็ดเงินลงทุนกว่า 113,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ฉบับนี้ คาดว่าในมิติเศรษฐกิจจะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 113,000 ล้านบาท สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลกว่า 71,000 ล้านบาท/ปี และช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันดิบได้ 59,000 ล้านบาท/ปี ส่วนทางด้านมิติสังคมนั้น จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 41,500 ล้านบาท/ปี และในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7.1 mtCO2 เทียบเท่า/ปี เทียบเท่าการปลูกป่าโกงกางขนาด 2.6 ล้านไร่/ปี.

เพิ่มเพื่อน