เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว สศอ. เผยดัชนี MPI พ.ค. หดตัว 1.54%

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 98.34 หดตัวร้อยละ 1.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 5 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 2.08 สะท้อนภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงไม่ฟื้นตัว หลังปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อภาคการผลิต

28 มิ.ย. 2567 – นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 98.34 หดตัวร้อยละ 1.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.77 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.16 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.08 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.30 ทั้งนี้ จากการที่ MPI หดตัว สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2567 การส่งออกรวมมีมูลค่า ขยายตัวร้อยละ 7.2 ขยายตัวเป็นเดือนที่สอง จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 4.6 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 2.9 ขยายตัวเป็นเดือนที่สอง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 4.4 ขยายตัวเป็น เดือนที่สอง โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่การส่งออกขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (Printer) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับแท้ ทำด้วยเงิน เป็นต้น

ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมิถุนายน 2567 “ส่งสัญญาณ ชะลอตัว” จากปัจจัยภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว หลังความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงจากปัจจัยเสี่ยงของปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบต่อสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตามมาตรการยกเว้นวีซ่าในหลายประเทศ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยังคงปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในอนาคต

“จากสถานการณ์การเปิด-ปิดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ จากการวิเคราะห์ของ สศอ. พบว่า ภาพรวมในปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 แม้จะมีการแจ้งปิดกิจการโรงงาน แต่สัดส่วนของโรงงานเปิดกิจการใหม่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อการลงทุน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ขยายตัวต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมที่มีจำนวนการเปิดโรงงานมากกว่าปิด เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี สิ่งทอ แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์อโลหะ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงเป็นที่ต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ โดยจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่และกลางเป็นหลัก และเป็นสินค้าที่มีความสามารถในการเติบโตได้ในอนาคต ดังนั้นภาครัฐควรเร่งส่งเสริมการลงทุน หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป“ นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.88 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากเกิดภาวะฝนแล้งและร้อนมากในช่วงก่อนหน้าทำให้ผลปาล์มสุกแดด จึงมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก สำหรับการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.55 จากภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าตะวันออกกลาง บาห์เรน และญี่ปุ่น รวมถึงการรับจ้างผลิตให้กับลูกค้าต่างประเทศ

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.18 จากเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้นข้ออ้อย และท่อเหล็กกล้า เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายในโครงการของภาครัฐ และฐานต่ำในปีก่อน
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.22 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการหดตัวของตลาดภายในประเทศ ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออ่อนแอ สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ตลาดส่งออกขยายตัว

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.16 จากภาวะการผลิตและการจำหน่ายลดลงของ Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก เป็นไปตามทิศทางของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกที่ยังชะลอตัว ประกอบกับบางบริษัทมีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้นจึงมีปริมาณการผลิตลดลง
คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.97 จากเสาเข็มคอนกรีต พื้นสำเร็จรูปคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดและตัวแทนจำหน่ายยังมีสต๊อกอยู่ในระดับสูง จึงชะลอคำสั่งซื้อ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ซัดรัฐบาลไร้ผลงาน เศรษฐกิจทรุด ฝ่ายค้านสนใจแต่จะแก้และนิรโทษ112

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

รัฐบาลปลื้มดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลับมาเป็นบวกในรอบ 18 เดือน

“รัดเกล้า” เผย MPI เดือนเม.ย. ขยายตัวร้อยละ 3.43 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ผลจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว