'คลัง' เร่งถกกรอบเงินเฟ้อใหม่ก่อนคุย 'แบงก์ชาติ' มอง 1% ต่ำเกินห่วงเศรษฐกิจหนืด หวังการเงินเข้าเสริม

“คลัง” เร่งถกกรอบเงินเฟ้อใหม่ก่อนคุย “แบงก์ชาติ” กาง 2 ทางเลือก เล็งขึงมาตรการเข้มข้นขีดเส้นชงเงินเฟ้อเข้าเป้า มอง 1% ยังต่ำเกินไป ห่วงทำเศรษฐกิจหนืด คนเบรกใช้จ่าย แจงคลังเร่งเหยียบคันเร่งดันเงินเฟ้อขยับ หวังมาตรการการเงินเข้าเสริม

27 มิ.ย. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณากรอบเงินเฟ้อในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยหากได้ข้อสรุปจะเร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อใหม่ต่อไป ซึ่งกระบวนการในการหารือทั้งหมดจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นมี 2 ทางเลือก คือ 1. กรอบเดิมที่ 1-3% ส่วนจะเพิ่มหรือจะลดลงนั้นยังอยู่ระหว่างพิจารณา และ 2. ใช้ในลักษณะค่ากลาง เหมือนในบางประเทศ เช่น ค่ากลางที่ 2% บวกลบ 0.5%

โดยหากถามว่าอัตราเงินเฟ้อระดับไหนที่จะเหมาะสมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น นายเผ่าภูมิ ระบุว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ไม่อยากพูดตอนนี้ โดยจากนี้จะต้องมีกระบวนการพูดคุย หารือเพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด ต้องมาตกลงร่วมกัน หาจุดยืนร่วมกัน หากแต่ละฝ่ายมองคนละจุดที่ไม่ตรงกัน ก็อาจจำเป็นจะต้องถอยกันคนละก้าวเพื่อหาจุดที่ลงตัว โดยกระบวนการหารือร่วมกันของทุกฝ่ายจะเป็นไปอย่างเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ความเห็นส่วนตัว รวมถึงความเห็นของหลายส่วนในคลัง มองว่า ควรจะต้องมีมาตรการที่ให้ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการที่จะทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ไม่ว่าข้อสรุปเรื่องกรอบเงินเฟ้อใหม่จะออกมาเป็นช่วงคาดการณ์ หรือค่ากลาง แต่การปฏิบัติเพื่อให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็จะมีหน้าที่ทำรายงานมาที่กระทรวงการคลัง ว่าทำไมถึงหลุดกรอบ และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้หลุดกรอบเป้าหมาย และสิ่งที่คลังทำได้ คือ รับหนังสือชี้แจงดังกล่าวมาแต่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรับทราบว่ามีแนวทางดังนี้ อาจจะมีการท้วงติง มีการพูดคุยกันบ้าง แต่ก็ทำได้เพียงเท่านั้น ดังนั้นจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการและการดำเนินการเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายให้ได้เป็นหลัก

“กรอบเงินเฟ้อสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมีกรอบเงินเฟ้อแล้วยังไม่ปฏิบัติตาม ดังนั้นมีกรอบไปก็เท่านั้น แม้ว่าจะเซตกรอบมาดีแค่ไหน ถ้ากระบวนการในการบังคับใช้ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงิน มาตรการทางการคลัง ต้องมีหน้าที่ผลักให้เงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย ถ้าตรงนี้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีกรอบไปก็เท่านั้น ส่วนถามว่าจะถึงขึ้นมีการลงโทษหรือไม่ คงไม่ขนาดนั้น แต่จะมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อทกให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังอยากเห็นหลังจากนี้ คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงินและภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ได้เจาะจงแค่ ธปท. แต่รวมไปถึงภาคส่วนอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจว่าควรจะมีหน้าที่และเป้าหมายเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้จะเริ่มเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้น จากราคาน้ำมัน-อาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่ามาจากความพยายามของมาตรการทางการคลังเป็นหลัก โดยทุกฝ่ายจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามใส่มาตรการทางการคลังเข้าไปเยอะและเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากมองว่าเงินเฟ้อยังต่ำกว่ากรอบ เศรษฐกิจหนืด สิ่งที่กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการ คือ การอัดสินเชื่อเท่าที่จะทำได้ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งยังมีกำลังน้อยมากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยธนาคารออมสิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท, มาตรการ PGS11 วงเงิน 5 หมื่นล้าบาท และคาดว่าจะมีเพิ่มอีก, มาตรการสินเชื่ออื่น ๆ รวมถึงมาตรการทางภาษี มาตรการสนับสนุนการลงทุน ซึ่งกระทรวงการคลังมองว่าเป็นหน้าที่ในการขับเคลื่อนผ่านกลไกเหล่านี้เพื่อให้เงินเฟ้อขยับขึ้น

“อยากเห็นเงินเฟ้อที่ไม่ต่ำเกินไป หากถามความเห็นส่วนตัวก็ยังมองว่าเงินเงินเฟ้อต่ำเกินไป ไม่ควรจะเป็นกรอบล่างที่1% เพราะเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าว สะท้อนว่าเศรษฐกิจไม่เคลื่อนตัว เศรษฐกิจหนืด คนไม่ใช้จ่าย เมื่อคนไม่ใช่จ่าย ไม่ซื้อของราคาสินค้าก็ไม่ขึ้น การที่เงินเฟ้ออยู่ระดับ 1% บวกลบ หมายความว่าเศรษฐฏิจฝืด เศรษฐกิจหนืด เราอยากเห็นเงินเฟ้อที่สูงกว่านี้ โดยอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มขยับขึ้นตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่เราเหยียบคันเร่งทางการคลัง ถ้าหากคลังไม่เหยียบคันเร่ง ผ่านการออกมาตรการที่กล่าวมา ปัจจุบันผมว่าเราคงเห็นอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ราว 0.3-0.4% เท่านัั้น และเราคาดหวังว่าถ้าจะให้ง่ายกว่านี้ หากมาตรการทางการเงินเข้ามาช่วยกัน ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้น นั่นหมายถึงภาวะความกินดีอยู่ดีของประชาชน” รมช.การคลัง ระบุ

เพิ่มเพื่อน