'พูลพัฒน์' มุ่งสร้างเสถียรภาพราคาพลังงาน ลดค่าครองชีพประชาชน-เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ประกาศวิสัยทัศน์ นำพาสำนักงาน กกพ. ให้ได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับ พร้อมวางเป้าหมายที่จะกำกับดูแลค่าไฟฟ้าของประเทศให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และดูแลราคาพลังงานให้กระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนคนไทยให้น้อยที่สุด เนื่องจากมองว่าปัจจุบันไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รวมถึงสร้างความราบรื่นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของชาติอย่างยั่งยืน

วางยุทธศาสตร์ Trusted OERC 4 ด้าน

พูลพัฒน์ ระบุว่า สำนักงาน กกพ. เป็นหน่วยงานแห่งความเชื่อมั่น และไว้วางใจของสังคมในการกำกับกิจการพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Trusted OERC 4 ด้าน ได้แก่

1.Trusted Regulation สร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคนโยบาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยการวางบทบาทสำนักงาน กกพ. เป็นองค์กำกับดูแลกิจการพลังงานภายใต้นโยบาย พร้อมกับจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้และยกระดับการกำกับดูแลตามภารกิจให้ครบถ้วนและเกิดความยั่งยืน

2.Trusted Research & Innovation ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการกำกับกิจการพลังงานกับองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้-เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหล่อหลอมเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เหมาะสมต่อการกำกับกิจการพลังงานของไทย

3.Trusted Management มุ่งพัฒนาการบริหารองค์กรให้สามารถกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรให้ตอบสนองต่อการรองรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งอนาคตที่มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตอบโจทย์ในทุกภารกิจของสังคมทั้งในวันนี้และวันหน้า

และ 4.Trusted Engagement สร้างการมีส่วนในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน สื่อสารประชาสัมพันธ์การกำกับกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อมวลชนครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

เทรนด์โลกมุ่งพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตาม ในยุคการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy Transition) เป็นผลมาจากความต้องการการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดรับมือกับภาวะโลกร้อน ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ภาคเศรษฐกิจและภาคพลังงานของไทยต้องการการปรับตัวขนานใหญ่ สำนักงาน กกพ. จึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลการเปลี่ยนผ่านให้มีความราบรื่น สมดุล เป็นธรรมให้มากที่สุด

“วันนี้ ในโลกกำลังคุยกันอยู่สองเรื่องหลักคือ Go Green และ Go Digital ภาคธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน เราต้องเตรียมความพร้อมในโอกาสสำคัญของจุดเปลี่ยนให้กับประเทศ ไม่ปล่อยผ่านโอกาสของภาคอุตสาหกรรม การลงทุนมีพลังงานสีเขียวรองรับความต้องการ ซึ่งพลังงานสีเขียวมีข้อดี แต่ก็มีบางส่วนที่สวนทางเป้าหมายของการบริหารจัดการภาคพลังงานที่ต้องการความมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ที่สำคัญคือ ต้องมีระดับราคาที่รับได้ด้วย สำนักงาน กกพ. ต้องเข้ามาดูแลให้เกิดความราบรื่นในการเปลี่ยนผ่าน” พูลพัฒน์ กล่าว

พูลพัฒน์ กล่าวว่า ความท้าทายภาคพลังงานไทยในระยะต่อไปคือ การสร้างความสมดุล ความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในการแข่งขัน ทั้งในภาคพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมให้ประเทศ และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมภาคเอกชน ให้สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางพลังงานสะอาดอย่างมีผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งยังมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางด้านพลังงาน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อต้นทุน ระดับราคาพลังงานของประเทศ

ลุ้นประกาศข่าวดีแก่ประชาชน

สำหรับแนวแนวโน้มค่าไฟงวดเดือน ก.ย.–ธ.ค.2567 พูลพัฒน์ กล่าวว่า ทิศทางราคาค่าไฟงวดปลายปีต้องติดตามตัวแปรต่างๆ ที่จะเข้ามา อาทิ สถานการณ์ต้นทุนราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในตลาดโลก ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทย อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ อย่างกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จนสะท้อนต่อราคาค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่าย จากงวดปัจจุบัน (พ.ค.–ส.ค.67) อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กกพ.จะเร่งรวบรวมข้อมูลต้นทุนทุกด้านเพื่อคำนวณค่าเอฟทีและประกาศรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้-เสีย ช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้

“ขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีอยู่ระดับซอฟต์ คือ ประมาณ 12 เหรียญสหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนจะสามารถตรึงให้อยู่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงกว่านี้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ขอดูองค์ประกอบจากทุกส่วนก่อน แต่ผมก็อยากจะเป็นผู้ประกาศข่าวดีให้กับประชาชนเช่นกัน และ    สำหรับกรณีภาคเอกชนต้องการให้ค่าไฟลดลงกว่านี้ อยากให้มองว่าไทยมีความมั่นคงไฟฟ้า เป็นไฟฟ้าคุณภาพ และตอนนี้เทรนด์ลงทุนทั่วโลกไม่ได้มองว่าค่าไฟต้องถูกหรือแพง แต่ควรมาจากการผลิตที่สะอาด เป็นไฟสะอาด เพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้” นายพูลพัฒน์ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการจัดทำไฟฟ้าสีเขียว (ยูทีจี) ขณะนี้ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ซื้อที่ไม่เจาะจงโรงไฟฟ้า (ยูทีจี 1) จะเป็นราคาค่าไฟฟ้าปกติ บวกค่า พรีเมียม 0.0594 บาทต่อหน่วย โดยไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 1,300-3,500 กิกะวัตต์ต่อปี สัญญาปีต่อปี มีความชัดเจนแล้ว และรอจัดทำค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ซื้อที่เจาะจงโรงไฟฟ้า (ยูทีจี 2) แบ่งเป็น 2 ราคาตามโรงไฟฟ้าที่เข้าระบบ กลุ่ม A ราคา 4.5622 บาทต่อหน่วย และกลุ่ม B ราคา 4.5475 บาทต่อหน่วย สัญญา 10 ปี โดยไฟฟ้ามาจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว 4,852.26 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากศาลปกครองหลังมีผู้ร้องกลุ่มไฟฟ้าจากพลังงานลม

นักลงทุนรอความชัดเจนจากรัฐบาล      

 อย่างไรก็ตาม พบว่านักลงทุนทั่วโลกและนักลงทุนไทยต่างรอความชัดเจน โดยเฉพาะยูทีจี 2 ทั้งกลุ่มนักลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ อย่างแอมะซอน กูเกิล ไมโครซอฟต์ และกลุ่มเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ สะท้อนว่ากลไกการค้าโลกกำลังมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่ง กกพ.จะเร่งดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน เป็นอีกกำลังสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้นักลงทุนยังต้องการความชัดเจนจากรัฐบาล ทั้งมาตรการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า (ไดเรกต์พีพีเอ) หากอนุมัติเดินหน้า กกพ.ก็พร้อมสนับสนุนและดำเนินการ 2 ส่วนหลัก คือ Third Party Access คือเปิดให้มีการซื้อขายไฟผ่านโครงข่ายของรัฐ และการจัดทำอัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) ซึ่งทั้งหมดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของไทย

นายพูลพัฒน์ กล่าวย้ำว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบยังคงมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีความจำเป็นในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการรักษาความมีเสถียรภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้า แต่การบริหารจัดการได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสัดส่วนปริมาณของพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มมากขึ้น สำนักงาน กกพ. จึงวางแนวทางในการกำกับดูแลภาคพลังงาน โดยคำนึงถึงทั้งคุณภาพไฟฟ้าที่ดีในระดับราคาที่ยอมรับได้ ควบคู่กับการสร้างการยอมรับในการกำกับกิจการพลังงานและทำให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน ทั้งภาคเศรษฐกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญสุดคือ ประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สำนักงาน กกพ. เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนอย่างแท้จริง.

เพิ่มเพื่อน