ส.อ.ท.มึน!! ยอดผลิตรถยนต์งวด พ.ค. ยังดิ่งฮวบต่อเนื่อง 16.19%

ส.อ.ท.มึนยอดผลิตรถยนต์ยังดิ่ง งวด พ.ค. ลดลง 16.19% สะท้อนยอดขาย ลด 23.38% จับตาเดือนก.ค. เรียกหารือปรับประมาณการยอดผลิตเพื่อขายในประเทศทั้งปีลดลง 5 หมื่นคัน จากเป้าเดิมรวม 1.9 ล้านคัน

25 มิ.ย. 2567 – นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนพ.ค. 2567 ว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ มีทั้งสิ้น 126,161 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 16.19% เนื่องจากจากการผลิตรถกระบะขายในประเทศลดลง 54.66% และผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศลดลง 14.35% ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อมเต็มที่ ขณะที่ภาพรวมช่วง 5 เดือน มีการผลิตรวมทั้งสิ้น 644,951 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.88%

ทั้งนี้ การผลิตเพื่อส่งออกเดือนพ.ค. 88,808 คัน เท่ากับ 70.39% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 1% ส่วนยอดรวม 5 เดือน ผลิตเพื่อส่งออกได้ 434,416 คัน ลดลงจากปีก่อน 2.54% ด้านการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศผลิตได้ 37,353 คัน เท่ากับ 29.61% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 38.57% และยอดรวม 5 เดือน ผลิตได้ 210,525 คัน ลดลงจากปีก่อน 36.23%

“ในเดือนก.ค.กลุ่มยานยนต์จะประชุมเพื่อพิจารณาปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกของประเทศไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากเดิมในปีนี้ กลุ่มยานยนต์ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์รวมไว้ที่ 1,900,000 คัน แต่เนื่องจากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังเปราะบางและกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง จึงอาจจะต้องปรับเป้าหมายยอดการผลิตเพื่อขายในประเทศตลอดทั้งปีเหลือเพียง 700,000 คันจากเป้าหมายเดิม 750,000 คัน หรือลดลง 50,000 คัน ขณะที่เป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งไว้ 1,150,000 คัน ยังมั่นใจว่าจะสามารถส่งออกได้ตามแผนที่กำหนดไว้”นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะที่ในเดือน พ.ค. 67 มียอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพ.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 49,871 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 6.70% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 23.38% เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำจากการล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การลงทุนของภาครัฐลดลง ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่าสิบเดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้

อย่างไรก็ตาม ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่่กำลังพิจารณาในสภาฯ แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 3% หรือไม่ ยังน่ากังวลถ้ายอดผลิตรถยนต์และขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เพราะทั้งสองอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องและแรงงานมากซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมาก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ภาพรวมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ป้ายแดงประเภท BEV เดือนพ.ค. มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 8,166 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 14.50% และในช่วง 5 เดือน มียานยนต์ BEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 43,921 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.64% ขณะที่อีวีป้ายแดงประเภท HEV มีจดทะเบียนใหม่ในเดือนพ.ค. จำนวน 10,789 คัน เพิ่มขึ้น 34.64% และสะสม 5 เดือนมีทั้งสิ้น 59,317 คัน เพิ่มขึ้น 53.48% ส่วนอีวีป้ายแดงประเภท PHEV มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 704 คัน ลดลง 31.32% และยอดสะสมช่วง 5 เดือนมีจำนวน 4,053 คันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.01%

เพิ่มเพื่อน