แปลงร่างธุรกิจสายท่องเที่ยวด้วยกรีน

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ของประเทศไทย โดยในปี 2566 สัดส่วน GDP ของการท่องเที่ยวสูงถึงเกือบ 13% ของ GDP รวมของไทย และล่าสุดดัชนีการพัฒนาด้านการเดินทางและท่องเที่ยว (Travel & Tourism Development Index 2024 หรือ TTDI 2024) ซึ่งวัดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแต่ละประเทศ ระบุว่า การท่องเที่ยวไทยอยู่ที่อันดับ 47 จาก 119 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 10 ของเอเชียแปซิฟิก สะท้อนศักยภาพของการท่องเที่ยวในการเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยถูกท้าทายมากขึ้นจากการที่ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติค่อนข้างตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และตื่นตัวมากขึ้นที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ง่าย อาบน้ำฝักบัวแทนการแช่น้ำในอ่าง และเลือกที่พักที่ได้รับการรับรองว่ามีการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะท้อนได้จากผลสำรวจล่าสุดของ Visa ซึ่งพบว่า 66% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าใจแนวคิดของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีนักท่องเที่ยวราว 46% ที่พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวของตนเอง

การแปลงร่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวสีเขียว หรือ Green Tourism จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเสริมแกร่งให้กับการท่องเที่ยว เพื่อเป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง โดยผู้ประกอบการต้องปรับธุรกิจทั้งในเรื่องของกระบวนการ (Process) และผลิตภัณฑ์ (Product) เช่น

Process เช่น ติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ใช้วัตถุดิบจากชุมชนใกล้เคียงเพื่อลดการใช้พลังงานในการขนส่ง ปรับกระบวนการให้บริการให้เป็นระบบ Online เพื่อลดการใช้กระดาษ ติดตั้งจุดแขวนผ้าเช็ดตัว Reuse แทนการนำไปซัก เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้ากลุ่มรักษ์โลก และจูงใจให้ลูกค้าทั่วไปได้ลองปรับพฤติกรรมของตนเองอีกด้วย เช่น จัดกิจกรรมให้ลูกค้าแข่งขันกันลดปริมาณขยะที่ทิ้ง ลดการใช้น้ำ เพื่อแลกรับที่พักฟรีในครั้งต่อไป หรือคูปองส่วนลดสำหรับใช้บริการต่างๆ ในโรงแรม 

Product เช่น การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ ใช้วัสดุ Recycle ในการตกแต่งห้องพัก ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์แชมพูและสบู่แบบ Refill และใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกสำหรับผ้าซักรีด

ขณะเดียวกันควรมีแนวทางที่ช่วยลดข้อจำกัดของนักท่องเที่ยวในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาข้อมูลยาก ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป และไม่มั่นใจว่าสินค้า/บริการนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ อาทิ

ผู้ประกอบการสมัครเป็นสมาชิกองค์กร/สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะรวบรวมรายชื่อของธุรกิจที่เป็นสมาชิกไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาค้นหาข้อมูลของผู้ประกอบการแต่ละรายได้ ทั้งนี้ หากสินค้า/บริการของท่านได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับ ก็จะยิ่งมีแนวโน้มเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ

ใช้ช่องทางออนไลน์ ซึ่งเข้าถึงผู้บริโภคได้ในวงกว้างและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าสื่ออื่นๆ ในการเร่งประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มการรับรู้ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวถึง 41% ระบุว่าขาดข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ในระยะแรกผู้ประกอบการอาจเลือกรูปแบบการปรับตัวที่มีต้นทุนไม่สูงนัก หรือเลือกปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่พร้อมจะจ่ายเงินเพิ่มได้ก่อน เพื่อให้ธุรกิจของท่านสามารถเติบโตต่อไปพร้อมกับการได้ช่วยดูแลโลก ส่วนท่านที่กำลังจะเดินทางท่องเที่ยวก็อย่าลืมเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาช่วยกันเปลี่ยนนิเวศการท่องเที่ยวไทยให้เป็นสีเขียวกันครับ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

กรรมการผู้จัดการ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง