'สุริยะ' สายตรง 'ดอนเมืองโทล์ลเวย์' ชะลอขึ้นค่าผ่านทาง 22 ธ.ค.นี้

“สุริยะ” สายตรงเจรจา “ดอนเมืองโทล์ลเวย์” ชะลอขึ้นค่าผ่านทาง 22 ธ.ค.นี้ ยื่นข้อเสนอขยายสัญญาสัมปทานจากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2577 จี้ “กรมทางหลวง” เร่งศึกษาราคาที่เหมาะสม และผลบวกดันปริมาณผู้ใช้ทาง

21 มิ.ย. 2567 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ทางด่วนโทล์ลเวย์ ประกาศเตรียมปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 22 ธ.ค. 2567 เล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับค่าครองชีพของประชาชน จึงได้มอบนโยบายให้กรมทางหลวง (ทล.) เจรจากับเอกชนคู่สัญญา เพื่อชะลอการปรับลดค่าผ่านทาง

อีกทั้ง เช้าวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ได้โทรศัพท์ไปยัง นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เพื่อเจรจาให้ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง

ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน และได้ข้อสรุปเบื้องต้นของการเจรจาโดยทางเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ แต่ขอให้ภาครัฐพิจารณาชดเชยในลักษณะคล้ายกับการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด หรือ บีอีเอ็ม ที่ขยายสัญญาสัมปทานแลกกับการปรับโครงสร้างอัตราค่าผ่านทางลงเหลือ 50 บาทตลอดสาย

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้ ทล.ศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบกรณีปรับลดค่าผ่านทาง ต้องคงอัตราเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมไม่เป็นภาระประชาชนมากเกินไป และหากปรับลดค่าผ่านทางลงจะต้องขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มอย่างไร อีกทั้งการดำเนินงานเหล่านี้จะจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการทางด่วนโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยหากปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจุบันปริมาณ 4 – 5 หมื่นคันต่อวัน เป็น 8 หมื่นคันต่อวัน ทางด่วนจะมีขีดความสามารถรองรับเพียงพอหรือไม่

“ตอนนี้แน่นอนว่าเราจะไม่ใช้วิธีชดเชยเงิน เพราะจะเป็นภาระงบประมาณ แต่ใช้วิธีเจรจากับเอกชนเพื่อใช้แนวทางขยายสัญญาแลกเปลี่ยน แต่จะขยายไปนานแค่ไหน ต้องรอให้กรมทางหลวงศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 – 3 เดือนนี้”นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์เอกชน แต่กระทรวงฯ เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะหากเปรียบเทียบกับการไม่เจรจาเรื่องนี้ และปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมดประชาชนต้องแบกรับภาระค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทานอีก 2 ครั้ง ในเดือน ธ.ค. 2567 และ ธ.ค. 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577

“กระทรวงฯ ยืนยันว่าการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทล์ลเวย์ครั้งนี้ เป้าหมายสำคัญเพื่อลดภาระประชาชน ไม่ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับแลกการก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงรังสิต – บางปะอิน ที่ ทล.มีแผนจะดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งกระทรวงฯ มองว่าการปรับลดค่าผ่านทางจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้ทางด่วนโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้นแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนวิภาวดี” นายสุริยะ กล่าว

ด้านนายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า สัญญาสัมปทานดอนเมืองโทล์ลเวย์เอกชนได้รับสัมปทานจาก ทล. ในปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนและกู้เงินมาลงทุนทั้งหมดเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 2538 ปี 2539 และล่าสุดในปี 2550 ซึ่งจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2577

ทั้งนี้ จากกรณีที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้เจรจาปรับลดค่าผ่านทางดอนเมืองโทล์ลเวย์ ทล.จะเร่งดำเนินการศึกษาข้อมูลและเจรจากับเอกชน ซึ่งประเมินเบื้องต้นหากปรับลดค่าผ่านทางลงคาดว่าจะจูงใจให้ประชาชนใช้บริการทางด่วนดอนเมืองโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้นราว 15-  20% ซึ่งทางด่วนดังกล่าวมีขีดความสามารถเพียงพอในการรองรับ

เพิ่มเพื่อน