“พาณิชย์”เผยส่งออก พ.ค.67 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7.2% บวกต่อเนื่อง 2 เดือนติด และกลับมาเกินดุลการค้าในรอบ 5 เดือน รวมยอด 5 เดือน มูลค่า 120,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.6% คาดแนวโน้มมิ.ย. บวกต่อ ได้แรงบวกจากสินค้าเกษตรและผลไม้ ยันไม่มีเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนให้คู่แข่ง ส่วนทั้งปีคงเป้าเดิม 1-2%
21 มิ.ย. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.2% โดยมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน และขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 960,220 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 947,007 ล้านบาท เกินดุลการค้า 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 13,214 ล้านบาท รวม 5 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออก มูลค่า 120,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.6% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 4,298,248 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 4,542,224 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 243,976 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 19.4% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 36.5% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.8 สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้ 5 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 4.7%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 4.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 5 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2.4%
ทางด้านตลาดส่งออก ตลาดหลัก เพิ่ม 8% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.1% CLMV เพิ่ม 9.6% จีน เพิ่ม 31.2% แต่อาเซียน (5) ลด 0.6% และสหภาพยุโรป (27) ลด 5.4% ญี่ปุ่น ลด 1% ตลาดรอง เพิ่ม 5.1% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 22.4% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 14.8% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 2.7% แต่ทวีปออสเตรเลีย ลด 1.4% ตะวันออกกลาง ลด 8.1% แอฟริกา ลด 19% สหราชอาณาจักร ลด 1.5% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 11.5% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 28.1%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้ พลิกกลับมาเป็นบวกสูงถึง 128% โดยในนี้เป็นการส่งออก ทุเรียน 83,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% แสดงให้เห็นว่า ทุเรียนของไทยยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน หลังจากที่ลดลงช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า เพราะผลผลิตปีนี้ออกล่าช้า แต่พอเดือน พ.ค. ผลผลิตมีเต็มที่ ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น และคาดว่าเดือนต่อ ๆ ไปก็จะส่งออกได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีทุเรียนภาคใต้ ที่จะเข้ามาเสริม ทำให้มั่นใจว่าไทยยังคงเป็นแชมป์ส่งออกไปจีนเหนือคู่แข่งแน่นอน
สำหรับแนวโน้มการส่งออกเดือน มิ.ย.2567 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และยังเป็นบวก แม้ว่าฐานเดือนเดียวกันของปี 2566 จะอยู่ในระดับสูงที่ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และตัวเลขครึ่งปี เป็นบวกแน่นอน ส่วนครึ่งปีหลัง การส่งออกยังจะเติบโตได้ดี โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การค้าโลก ปัญหาเงินเฟ้อที่เบาบางลง ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ค่าระวางเรือ ที่เป็นผลลบต่อการส่งออก แต่ตัวเลขทั้งปียังมั่นใจจะขยายตัว 1-2%
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกยังคงเติบโตได้ดี แต่ภาคเอกชนมีความกังวลในเรื่องค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยค่าระวางเรือไปยุโรป เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และเส้นทางไปสหรัฐฯ ก็เพิ่ม 2 เท่าเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นต้นทุน แต่ยังประเมินส่งออกครึ่งปี 2567 น่าจะบวกได้ 2%