เร่ง สมอ. บังคับใช้มาตรฐานควบคุมหม้อหุงข้าว-ภาชนะสแตนเลส

‘พิมพ์ภัทรา’ เร่ง สมอ. บังคับใช้มาตรฐานควบคุมหม้อหุงข้าว-ภาชนะสแตนเลส พร้อมทำความเข้าใจผู้ประกอบการทั้งผลิตและนำเข้า เตรียมความพร้อมในการยื่นขออนุญาต ก่อนมาตรฐานมีผลใช้ปลายปี 2567

20 มิ.ย. 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวร้อน เช่น หม้อหุงข้าว หม้อต้มไฟฟ้า และกระติกน้ำร้อน เป็นต้น และภาชนะสแตนเลส 7 รายการ ได้แก่  หม้อ กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม ถาดหลุมใส่อาหาร และปิ่นโต เป็นสินค้าควบคุมนั้น จึงได้เร่งรัดให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ดำเนินการให้มาตรฐานมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ สมอ. ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,300 ราย เตรียมความพร้อมในการยื่นขออนุญาต ก่อนที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2567 นี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า จากข้อห่วงใยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. จึงได้จัดการสัมมนาขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดในมาตรฐานและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานดังกล่าว ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมถึงการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาตด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ทำและนำเข้าสินค้าดังกล่าวทั้ง 2 รายการ กว่า 1,300 ราย และหลังจากที่มาตรฐานดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า

ทั้งนี้ สมอ. ได้เตรียมการเพื่อรองรับการยื่นขออนุญาตจากผู้ประกอบการ สามารถยื่นขอผ่านระบบ E-License ได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th สำหรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ได้เตรียมห้องแล็บเพื่อการทดสอบ ได้แก่ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท เอสจีเอส ประเทศไทย จำกัด บริษัท โกลบอล คอมไพลแอ็นซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท แจแปน อิเลคทริคอล เทสติ้ง ลาบอราตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โกลบอล คอมไพลแอ็นซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ประกอบการจึงเชื่อมั่นได้ว่า การยื่นขออนุญาตจะสามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย

'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท